ข่าวประชาสัมพันธ์

(ข่าวที่ 100/2567) วศ.อว. สร้างจิตสำนึกบุคลากร ขับเคลื่อนองค์กรด้วยคุณธรรมและความโปร่งใส ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ

F490 2 F490 3

F490 4 F490 1

 

            วันที่ 23 เมษายน 2567 นางสาวภัทริยา ไชยมณี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมสนทนาประสา วศ. หัวข้อ “การขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (ITA DSS DAY 2024)” เพื่อเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรและให้บุคลากร วศ. เกิดความรู้ ความเข้าใจในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี พ.ศ. 2567 และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสะท้อนประเด็นด้านคุณธรรมและความโปร่งใสภายใน วศ. โดยได้รับเกียรติ นายภิญโญยศ ม่วงสมมุข เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นวิทยากร โดยมีบุคลากร วศ. เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน ณ ห้องประชุมวิทยวิถี ชั้น 6 อาคารตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ และผ่านระบบออนไลน์ (ZOOM)
           ทั้งนี้ นางสาวภัทริยา ไชยมณี กล่าวว่า การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือการประเมิน ITA เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐเพื่อพัฒนาระบบราชการของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ ให้ทราบถึงสถานะและปัญหาการดำเนินงานด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กร โดยผลการประเมินจะช่วยให้สามารถนำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงเห็นควรให้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน ITA อันเป็นเครื่องมือที่หน่วยงานได้สำรวจและประเมินตนเอง เพื่อให้ทราบข้อมูลอันส่งผลให้เกิดความตระหนักและการปรับปรุงการบริหารงานและกำกับดูแลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และให้ความสำคัญกับด้านคุณธรรมและความโปร่งใสขององค์กรตนเองมากยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างวัฒนธรรมองค์กร วศ. ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงเสริมสร้างจิตสำนึกการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ดี เสริมสร้างทัศนคติที่ดีให้บุคลากร วศ. ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรมต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 99/2567) วศ.อว. เสริมความรู้ด้านวิชาการและงานบริการภาครัฐ สอดคล้องกฎหมาย PDPA หนุนบุคลากรปรับใช้ในการทำงาน พร้อมเดินหน้าผลักดันวารสารวิชาการฯ ผ่านเกณฑ์ TCI

F488 3 F488 1

F488 2 F488 4

 

          วันที่ 23 เมษายน 2567 ดร.พจมาน ท่าจีน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการอบรมการดำเนินงานด้านวิชาการและงานบริการภาครัฐให้สอดคล้องกับกฎหมาย PDPA โดยได้รับเกียรติจาก นายอมรพันธุ์ นิติธีรานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล และนายชาตรี วงษ์แก้ว นักวิชาการอิสระ มาเป็นวิทยากร มีผู้เข้าอบรมในห้องประชุมฯ และระบบออนไลน์กว่า 500 คน ณ ห้องประชุมวิทยวิถี ชั้น 6 อาคาร ดร. ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
          ทั้งนี้ ดร.พจมาน ท่าจีน รองอธิบดี วศ. กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยกองหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สท.) ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากร วศ. ทั้งในด้านการบริหารจัดการกับข้อมูลงานวิจัยของผู้นิพนธ์ หรือนักวิจัย ซึ่งเป็นแหล่งต้นทางของวัตถุดิบในผลงานวิจัยให้มีความรู้และเข้าใจการจัดการข้อมูลอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสอดคล้องกับการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA อีกทั้ง วศ. ได้จัดทำวารสารวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ (Bulletin of Applied Sciences) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยของนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในทางวิชาการ การอ้างอิง และการประกอบกิจการภาคการผลิตและอุตสาหกรรม มาตั้งแต่ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2566 วศ. ได้ผลักดันวารสารวิทยาศาสตร์ประยุกต์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (Bulletin of Applied Sciences) จนได้รับการรับรองคุณภาพวารสารกลุ่ม 2 และได้รับการบันทึกข้อมูลวารสารสู่ฐานข้อมูลศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index Center - TCI) และผลักดันเข้าสู่การเป็นวารสารวิชาการระดับชาติ กลุ่ม 1 ต่อไป
          สำหรับดำเนินงานจัดทำวารสารฯ มีความเกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัย (Research ethics) อันเป็นหลักเกณฑ์ที่ควรประพฤติปฏิบัติเพื่อให้การดำเนินงานตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม ตลอดจนจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ (Publication ethics) ยกตัวอย่าง การลอกเลียนวรรณกรรม หรือการคัดลอกผลงานผู้อื่นโดยไม่มีการอ้างอิงที่ถูกต้อง (Plagiarism) ซึ่ง วศ. ได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลตั้งแต่การจัดเก็บ รวบรวม ใช้ประโยชน์ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีมาตรการดูแล และเผยแพร่อย่างเหมาะสม ไม่ให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงต้องวางระบบป้องกันข้อมูลรั่วไหลจากการโจรกรรม (Hack) ที่อาจสร้างผลกระทบ ความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ดังนั้น การเสริมความรู้ด้านกฎหมาย PDPA ควบคู่กับการดำเนินงานด้านวิชาการและงานบริการภาครัฐ จะช่วยเสริมความมั่นใจและสร้างความเชื่อมั่นในผลงานของนักวิชาการหรือบุคลากร วศ. เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือทั้งผลงานวิชาการและงานบริการที่เกี่ยวข้องต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 98/2567) รมต. “ศุภมาส” ชื่นชม กรมวิทย์บริการ กระทรวง อว. ยกระดับกระดาษปอสา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนเพิ่มรายได้ชุมชนกว่า 2 พันล้านบาท

487 2 F487 3

F487 4 F487 1

 

           เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนทางภาคเหนือของประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์กระดาษสาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างรายได้จากการส่งออกกระดาษสาและผลิตภัณฑ์มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวรวมเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ชุมชนที่ผลิตกระดาษสา ยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้และทำกิจกรรมการผลิตกระดาษแบบดั้งเดิมจำนวนมาก เป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ในการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการประกอบอาชีพด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเพื่อเป็นการกระจายรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
          ตนขอชื่นชมกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ที่ประสบความสำเร็จด้วยการนำกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ การผลิตกระดาษสา การสร้างลวดลาย สีสัน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ
          ทั้งนี้ ตนได้มอบหมาย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ให้เร่งขยายพื้นที่การดำเนินงาน และสร้างความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับหน่วยงาน อว.ระดับพื้นที่ รวมถึงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรโยชน์ประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
          นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตกระดาษสาส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการผลิตตามความต้องการสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของ รมว.อว. ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ลงสู่พื้นที่ที่มีการผลิตกระดาษสาเพื่อการส่งออก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน เพื่อยกระดับคุณภาพกระดาษสาสำหรับส่งออกในด้านต่าง ๆ เช่น สีสัน ลวดลาย การเพิ่มความเรียบ ความสม่ำเสมอ ความแข็งแรง การต้านลามไฟของเนื้อกระดาษ และลดความเป็นกรดด่าง ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าจากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น
           นอกจากนี้ ยังเร่งให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มเทคนิค และจัดสถานที่เพื่อให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และน่าน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกระดาษสา โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตกระดาษหัตถกรรมให้เหมาะกับการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพ รูปแบบ สีสัน ลวดลาย บนกระดาษสาด้วยเทคนิค Ebru Marbling ซึ่งเป็นการประยุกต์งานศิลปะดั้งเดิมของชาวตุรกี ที่สร้างลวดลายหินอ่อนบนผ้ามาสร้างลวดลายหินอ่อนบนผิวกระดาษสา เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำด้วยตัวเอง เพิ่มความน่าสนใจ ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำชุมชนด้านสถานที่ รวมถึงข้อมูลให้กับบุคลากรในพื้นที่ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านผลิตภัณฑ์กระดาษหัตถกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชุมชนกระดาษสาที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากยิ่งขึ้น
           ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเยื่อและกระดาษแบบครบวงจรมากกว่า 50 ปี ทั้งด้านวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบเครื่องทดสอบกระดาษ วิจัย พัฒนา และจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) ตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล และ วศ. ได้นำองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตกระดาษไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ วิสาหกิจชุมชน (OTOP) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านเยื่อและกระดาษภายในประเทศ
          นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในชุมชนและภาคมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อพัฒนากระดาษหัตถกรรมท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น สืบทอดกันมานับหลายร้อยปี สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนระดับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 97/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” หนุนไทยเป็นผู้นำโลก ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์ให้ วศ. อว. เร่งผลิตวัสดุและห้องปฏิบัติการอ้างอิง เครือข่ายทั่วประเทศ รองรับตลาดโลก เพิ่มมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท

F486 1 F486 2

F486 4 F486 3

 

          วันที่ 21 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านอาหารสัตว์ในลำดับต้น ๆ ของโลก ทั้งกลุ่มอาหารสัตว์เศรษฐกิจและอาหารสัตว์เลี้ยง แนวโน้มการส่งออกอาหารสัตว์ในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจไทยขยายตัว รองรับตลาดโลก เพิ่มมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท อว. ได้ควบคุมสินค้าเหล่านั้นให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและความปลอดภัย โดย รมว.อว. เน้นย้ำให้นำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารให้ครบวงจร ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พัฒนาศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์ โดยเน้นกระบวนการผลิต (manufacturing process) การประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ (quality assurance) และการควบคุมคุณภาพ (quality control) ของสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ให้ วศ.อว. เร่งผลิตวัสดุและพัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิง พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อรองรับตลาดโลก เพิ่มมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
           นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ตระหนักถึงการส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการตรวจวิเคราะห์ทดสอบ และระบบการประกันคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ตามนโยบายของ รมว. อว. จึงเร่งให้ วศ. ผลิตวัสดุอ้างอิงตามมาตรฐานสากล สร้างการตรวจสอบกลับ เพื่อมั่นใจผลการวัดและควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของ วศ. ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ได้เข้าไปมีบทบาทในระบบการประกันคุณภาพการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปี โดยการส่งเสริมห้องปฏิบัติการทดสอบด้านอาหารสัตว์ทั่วประเทศ จำนวนไม่น้อยกว่า 150 ห้องปฏิบัติการ ให้เข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ และเร่งผลิตวัสดุ พร้อมทั้งพัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิง ทั้งนี้ วศ.อว. พร้อมสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยการวิเคราะห์หาปริมาณสารและองค์ประกอบหลักต่าง ๆ ในอาหารสัตว์จำพวกอาหาร เช่น เป็ด ไก่ ปลา วัว สุนัข เพื่อประเมินสมรรถนะของห้องปฏิบัติการว่ามีความสามารถในการทดสอบ ให้ค่าผลการวัดที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
ปัจจุบัน วศ. สามารถผลิตวัสดุอ้างอิงด้านอาหารสัตว์ รายการ Water-soluble chlorides (as NaCl) รายการ minerals (Ca, Cu, Fe, Mg, Mn, K, Na, Zn และ P) และรายการ Moisture, Protein, Crude fat, Crude fiber and Ash ตามมาตรฐาน ISO 17034 และ ISO Guide 35 ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมมีห้องปฏิบัติการนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบความสมเหตุสมผลของวิธีทดสอบ การทวนสอบของวิธีทดสอบ การสร้างและพัฒนาห้องปฏิบัติการเครือข่าย และควบคุมคุณภาพของห้องปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 379 ห้องปฏิบัติการ โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ยื่นขอการรับรองการเป็นผู้ผลิตวัสดุอ้างอิง (reference material producer) ตามมาตรฐานสากลต่อไป เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห้องปฏิบัติการในภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมบริการอาหารแห่งอนาคต
           นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตวัสดุอ้างอิงอาหารสัตว์ในประเทศ ช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุอ้างอิงจากต่างประเทศ และได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ วศ.อว. เตรียมขยายการผลิตวัสดุอ้างอิงอื่น ๆ ให้ครอบคลุมกับความต้องการของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 96/2567) อธิบดี วศ.อว. "หมอรุ่งเรือง" ห่วงอาหารเป็นพิษพุ่งช่วงหน้าร้อน แนะ!! ประชาชนบริโภคน้ำแข็งอย่างระวัง เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐาน GMP

 

F485 1 F485 2

 

           ปัจจุบันประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน ทำให้น้ำดื่ม น้ำแข็ง และไอศกรีม เป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมคลายร้อนของผู้บริโภค ถ้าหากขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาไม่ดี อาจเกิดการปนเปื้อนและเกิดการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และโรคอุจจาระร่วง ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค
           นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนว่า น้ำแข็งเกิดจากการนำน้ำเข้าสู่กระบวนการลดอุณหภูมิจนเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง น้ำแข็งในไทยหลัก ๆ แบ่งได้ 2 แบบ คือ น้ำแข็งป่นและน้ำแข็งหลอด ทั้งนี้ น้ำแข็งที่ปลอดภัยสามารถนำมารับประทานได้ต้องผลิตจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข มีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ สถานที่ผลิต เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต คุณภาพน้ำที่ใช้ผลิต ภาชนะบรรจุ กระบวนการบรรจุ กระบวนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค การควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงสุขลัษณะของผู้ปฎิบัติงานและการควบคุมเรื่องสัตว์แมลงต่าง ๆ อีกทั้งผู้บริโภค               ต้องสังเกตรายละเอียดบนฉลาก โดยข้อสังเกตของน้ำแข็งที่ถูกสุขลักษณะ ประกอบด้วย
          1. มีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน
          2. มีเครื่องหมายรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
          3. มีชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม ที่ชัดเจน
          4. บรรจุอยู่ในถุงหรือบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพและอยู่ในสภาพดีไม่มีรอยฉีกขาด
          5. หลีกเลี่ยงการรับประทานหรือซื้อน้ำแข็งจากผู้ขายรายนั้น หากพบตะกอนบริเวณก้นแก้วหลังจากน้ำแข็งละลาย
          6. หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำแข็งที่ใช้ในการแช่อาหารร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก หรือขวดน้ำก็ตาม ในถังน้ำแข็งควรมีแต่น้ำแข็งและที่ตักน้ำแข็งแบบมีด้ามเท่านั้น
          7. หลีกเลี่ยงน้ำแข็งที่ขนส่งโดยถุงกระสอบหรือน้ำแข็งบดบรรจุกระสอบ
          ทั้งนี้ วศ.อว. แนะนำให้ผู้บริโภคปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตลักษณะของน้ำแข็งที่จะบริโภคต้องใสสะอาด ไม่มีคราบ สีหรือกลิ่นที่ผิดปกติ ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมในก้อนน้ำแข็ง โดยเลือกซื้อจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนดังกล่าว

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

  1. (ข่าวที่ 95/2567) กรมวิทย์บริการ ชี้ กระดาษห่อไก่ทอด อาจมีสารพิษตกค้างที่เกิดโทษต่อร่างกายในระยะยาวได้ ถ้ากระดาษที่ใช้ไม่ได้รับการรับรองว่าสัมผัสอาหารได้
  2. (ข่าวที่ 94/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. ยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ล่าสุดเพิ่มศักยภาพ ได้กว่า 100 ราย เพิ่มรายได้กว่า 1 พันล้านบาท
  3. (ข่าวที่ 93/2567) “หมอรุ่งเรือง” อธิบดี วศ. แนะวิธีรับมือสารแอมโมเนีย ผู้ได้รับผลกระทบต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อาจอันตรายเสียชีวิต พบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
  4. (ข่าวที่ 92/2567) รมว. “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. ผลักดันผลิตภัณฑ์ขึ้นบัญชีนวัตกรรม ล่าสุด “แผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพ ผลิตได้เองในประเทศ ผู้ป่วยพึงพอใจ เริ่มใช้งานใน รพ. ทั่วประเทศ”
  5. (ข่าวที่ 91/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อมการวัดค่า Chemical Oxygen Demand (COD)
  6. (ข่าวที่ 90/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและกิจกรรมฟังบรรยายธรรมะ ส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี
  7. (ข่าวที่ 89/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เรื่อง การตรวจวิเคราะห์หาปริมาณของแข็งละลายน้ำ (Total Dissolved Solids : TDS)
  8. (ข่าวที่ 88/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” ห่วงใยประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ แนะให้ใช้ “ดินสอพอง” ที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัย หลัง วศ.อว. ตรวจพบกว่าร้อยละ 42.6 ปลอม เสี่ยงอันตราย
  9. (ข่าวที่ 87/2567) กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดกิจกรรม “รดน้ำชุ่มฉ่ำ ฟังธรรมชุ่มใจ วศ.อนุรักษ์ประเพณีไทย สานสายใยผู้อาวุโส ประจำปี 2567” นิมนต์หลวงพ่ออลงกต รับบิณฑบาต และเทศนาธรรมเพื่อความเป็นสิริมงคแก่ชาว วศ.อว. เนื่องในเทศกาลสงกรานต์
  10. (ข่าวที่ 86/2567) “หมอรุ่งเรือง” ยืนยันข้อมูลวิทยาศาสตร์ วศ.อว “แกงไตปลา” อาหาร อัตลักษณ์ปักษ์ใต้ของไทย มีประโยชน์สูงต่อสุขภาพ

Page 1 of 414