ข่าวประชาสัมพันธ์

(ข่าวที่ 52/2567) อธิบดี วศ. นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ขับเคลื่อนองค์กรด้วยค่านิยมซื่อสัตย์ สุจริต ชูเจตนารมณ์ “No Gift Policy” ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีแก่บุคลากรและสังคม

F336

 

          ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 เห็นชอบแผนปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ประกาศเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่รับของขวัญของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ และให้ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานจัดทำประกาศพร้อมลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร
           ล่าสุด นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ No Gift Policy งดให้-งดรับ ของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมสุจริตตามหลักธรรมาภิบาล พร้อมเน้นย้ำ “ของขวัญที่ดี คือไมตรีที่มีต่อกัน” อธิบดี วศ. กล่าวว่า นโยบาย No Gift Policy เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ซึ่งตนเองให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยสื่อสารชัดเจนกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ วศ. ทุกระดับตั้งแต่วันแรกที่มารับตำแหน่งอธิบดีกรม วศ. เพื่อปลุกจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนเป็นคนดี มีค่านิยมในทางสุจริต มีจิตบริการ และยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ดีแก่องค์กรและสังคมต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 51/2567) “รมว.อว. ศุภมาส” ให้ วศ.อว. ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยนวัตกรรมแก้จน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน แก่กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน

F335 4 F335 3

F335 1 F335 2

 

           เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนและเยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานของผู้ประกอบการ OTOP ตนได้สั่งการและให้นโยบายแก่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ และชุมชน เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับขีดความสามารถของชุมชน รวมทั้งการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการของชุมชนสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยยกระดับให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน

           นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า วศ.อว. ได้ดำเนินการระดับพื้นที่ เพื่อวินิจฉัยปัญหา ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านกระบวนการผลิต รวมถึงการยื่นขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ได้แก่ “การพัฒนากระบวนการผลิตเซรามิก” กลุ่มเซรามิกบ้านหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง โดยเริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจวัตถุดิบ ดินขาวระนอง และแร่ดีบุกเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิก ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกอย่างต่อเนื่อง เช่น ชุดถ้วยกาแฟและจานใบบัว จานที่ระลึกลายนูนต่ำรูปพระราชวังรัตนรังสรรค์ “การมัดย้อมผ้าทอมือด้วยสีธรรมชาติ และการเขียนลายเส้นบนผ้าทอมือ” ให้กับผู้ประกอบการ กลุ่มระนองบาติก โดยสอนเทคนิคการสกัดและย้อมสีจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ใบมะม่วง ใบมังคุด ทำผ้ามัดย้อม การออกแบบลวดลายของเส้นเทียนบาติกให้ผ้ามีมิติมากขึ้นเป็นการผสมผสานเข้าด้วยกันให้เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากน้ำแร่ธรรมชาติ” โดยลงพื้นที่สำรวจบ่อน้ำร้อนรักษะวาริน นำน้ำแร่ระนองมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่เหลวน้ำผึ้ง สบู่กลีเซอรีน สเปรย์น้ำแร่ แชมพู ครีมนวดผม และเกลือขัดผิว ผนวกกับใช้สมุนไพรที่มีประโยชน์เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสมผสานกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ “การยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์สะตอ” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบในท้องถิ่นของภาคใต้ เช่น สะตอบรรจุในถุงสุญญากาศ สะตอดองในน้ำปรุงรส สะตอทอดกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบสะตอ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เมล็ดมะม่วงหิมพานต์” นำปัญหาวัตถุดิบตกเกรด เช่น ปลายข้าวหัก และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ครึ่งซีก หัก หรือป่น ซึ่งมีมูลค่าต่ำมาวิจัยพัฒนาแปรรูป และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าและเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่ คุกกี้เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เค้กกล้วยหอมเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เครื่องดื่มน้ำข้าวผสมเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมถึงการถ่ายทององค์ความรู้ “เทคโนโลยีการพัฒนาอ่างบ่มอุณหภูมิสำหรับการเกษตรแปรรูปชุมชน” โดย วศ.อว. พัฒนาต้นแบบอ่างบ่มด้วยอุณหภูมิต่ำที่เหมาะสมกับเกษตรแปรรูปชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาอ่างบ่มที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมได้เอง โดยใช้วัสดุที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด เป็นเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร มีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานกำหนด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้แปรรูปผลิตภัณฑ์สะตอเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และการลดระยะเวลาในการดองไข่เค็ม

          วศ.อว. มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและความสามารถของชุมชนและผู้ประกอบการ OTOP ให้สามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
           ในขณะนี้ ได้เน้นย้ำการสร้างความร่วมมือ จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดกลไกความร่วมมือ เกิดการขยายผลอย่างครอบคลุมชุมชนทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 50/2567) วศ.อว. เตือนภัย “ภาวะฝนกรด” กระทบสุขภาพ หลังโซเชียลแชร์ภาพถนนเป็นฟองสีขาวหลังฝนตก แนะหลีกเลี่ยงการตากฝนและไม่ควรรองรับน้ำฝนในช่วงแรก

F334 4 F334 3

F334 1 F334 2

 

           เมื่อเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นพ. รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามที่มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล สื่อโซเชียลได้โพสต์ภาพฟองสีขาวที่บริเวณต้นไม้ริมทางเท้าภายหลังฝนตก โดย กรณีฟองที่เกิดริมทางเท้านั้นสามารถอธิบายได้ว่า เป็นฟองอากาศที่เกิดขึ้นจากอากาศที่ถูกดักจับโดยของเหลวที่มีแรงตึงผิวสูงมาก โดยการเกิดฟองอากาศจะประกอบด้วย (1) ของเหลว คือ ฝนกรด (2) อากาศที่แทรกอยู่ในรูพรุนขนาดเล็กของพื้นดินหรือพื้นยางมะตอย (3) สารลดแรงตึงผิว บนพื้นผิวถนน และบรรยากาศ ประกอบไปด้วยสารจำพวกน้ำมัน (โดยเฉพาะพวกน้ำมันปิโตรเลียม) เช่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันจากสารทำความเย็น น้ำมันเบรค และ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดจากฝนและมลพิษ ในรูปของฝนกรดนั่นเอง
           ปรากฏการณ์ฝนกรดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันมีสาเหตุสำคัญมาจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหินในอุตสาหกรรมไฟฟ้า การปล่อยควันพิษและของเสียจากโรงงานต่างๆ รวมไปถึงมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โดยกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันดังกล่าว มีการปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2¬) และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) รวมถึงฝุ่นละออง ออกสู่บรรยากาศ และทำปฏิกริยากับไอน้ำหรือน้ำฝน เปลี่ยนรูปไปเป็นกรดซัลฟิวริก (H2SO4) กรดไนตริก (HNO3) และ กรดชนิดอื่นๆ ตกลงมาบนพื้นผิวโลก ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ผืนดิน ป่าไม้และสิ่งก่อสร้างอย่างมาก มากไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงอีกด้วย นั่นคือ ฝนกรดสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากการบริโภคน้ำฝนที่เพิ่งตกลงมาใหม่ๆ อาจเสี่ยงต่อการดื่มน้ำที่มีสภาวะเป็นกรดและมีสารพิษปนเปื้อน
           อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ แนะนำประชาชนควรหลีกเลี่ยงการตากฝน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนัง หากโดนฝนเมื่อกลับบ้านควรรีบอาบน้ำ สระผมเพื่อชำระสิ่งสกปรกแล้วเช็ดตัวเป่าผมให้แห้ง นอกจากนั้นไม่ควรรองรับน้ำฝนที่ตกในช่วงแรกๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภค ควรปล่อยให้ฝนตกสักระยะหนึ่งก่อนเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศและหลังคาให้สะอาดเสียก่อน
           การแก้ไขการเกิดฝนกรดอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การลดจำนวนปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตร เจนออกไซด์ที่จะเข้าสู่บรรยากาศจากโรงงานไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปและยานพาหนะ โดยทางโรงงานจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการเกิดก๊าซมลพิษเหล่านี้ โดยการจัดให้มีอุปกรณ์ในการดักจับอย่างถูกต้องนอกจากนั้นการแก้ไขที่ต้นตอนั่นคือ ตัวเราเอง โดยเราสามารถช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าให้เกิดการเผาไหม้น้อยที่สุดได้ เช่น การเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ใช้รถยนต์ให้น้อยลง เพียงแค่เราร่วมมือกันคนละนิด ไม่ก่อให้เกิดการผลิตของเสียและการเผาไหม้ การเกิดฝนกรดก็จะลดน้อยลงไปโดยปริยาย
           ในปัจจุบันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาฝนกรด พบว่านโยบายภาครัฐของหลายกระทรวงให้ความสำคัญในการลดมลพิษที่ก่อให้เกิดฝนกรด อาทิ กระทรวง อว. ส่งเสริมการสร้างงานวิจัยเพื่อลดมลพิษทางอากาศ เช่น การพัฒนาเครื่องดักจับก๊าซมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้และที่เจือปนอยู่ในก๊าซชีวภาพ ตลอดจนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อตรวจวัดสภาพมลพิษทางอากาศของประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาตรการบังคับใช้มาตรฐาน Euro5 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดแทนการเผาอ้อยก่อนตัด ผ่านการสมทบจ่ายค่าแรงงานให้แก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยสด กระทรวงพลังงาน ได้ออกนโยบาย 3C หรือ Clean-Care-Change โดย CLEAN-ยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงโดยปรับคุณภาพน้ำมันจาก Euro4 ไป Euro5 ซึ่งจะมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm, CARE-ส่งเสริมการเข้าศูนย์บริการเพื่อดูแลเครื่องยนต์, และ CHANGE-สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการการปล่อยก๊าซมลพิษ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายกำหนดมาตรการตรวจสภาพรถยนต์ให้มีเกณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้นและลดการปล่อยมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการจัดการไฟในป่า ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ในส่วนของภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดการใช้งานพาหนะส่วนตัว หมั่นตรวจสอบสภาพพาหนะส่วนตัว ลดการเผาไหม้ในที่โล่ง เป็นต้น
           กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้เกิดการนำข้อมูลและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 49/2567) "รมว.ศุภมาส แถลง วศ.อว. นำไทยสู่อันดับ 5 ของโลก ด้านการรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สร้างความเชื่อมั่นระบบประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ นำสินค้าไทยสู่สากล"

F333 4 F333 1

F333 3 F333 2

 

            เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ได้รับการรับรองเป็นหน่วยงานเดียวในนามประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศ ว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation Mutual Recognition Arrangement, ILAC MRA) ในการรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 ได้คุณภาพมาตรฐาน เป็นอันดับที่ 5 ของโลกในปี พ.ศ. 2567
            รมว.อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาการรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมฯ ให้ได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามนโยบายของกระทรวง อว. ซึ่งมุ่งเน้นในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือ “วิทยาศาสตร์-วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ "เน้นประเด็นสำคัญของประเทศด้านความยั่งยืน (Sustainabilty) มุ่งพัฒนาความสามารถและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันที่ยั่งยืนในทางการค้าการลงทุนสนับสนุนการส่งออก และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในการประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการของประเทศไทย ทั้งด้านการทดสอบ สอบเทียบ และด้านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพบริการทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เมื่อการประเมินคุณภาพจากภายนอกของการตรวจวิเคราะห์ทางด้านวิทยาศาสตร์ (External Quality Assessment, EQA) ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเป็นที่ยอมรับแก่ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยกำกับดูแลทางกฎหมาย มีความเชื่อมั่นในข้อมูลที่ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์หรือตัดสินใจที่สำคัญของประเทศได้
            นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประเมินคุณภาพจากภายนอก (External Quality Assessment, EQA) หรือการทดสอบความชำนาญ (Proficiency Testing, PT) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่มาตรฐานสากลหรือมาตรฐานระดับนานาชาติ ได้กำหนดให้ห้องปฏิบัติการ และห้องปฏิบัติการทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ โดยที่ กรม วศ. ได้เข้าร่วมการประเมิน เพื่อเป็นการประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการบ่งชี้คุณภาพและมาตรฐานของระบบและบุคลากร และได้ใช้ผลการประเมินในการเฝ้าระวังสมรรถนะของการตรวจวิเคราะห์ แสดงถึงความสามารถอย่างต่อเนื่องของห้องปฏิบัติการ ทำให้ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมีความน่าเชื่อถือ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานสากล เกิดความเชื่อมั่นเป็นที่ยอมรับแก่ผู้ใช้บริการ เช่น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนเกิดความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ทั้งนี้ กรม วศ. มุ่งมั่นพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืนตลอดไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 48/2567) วศ.อว. แจงผลตรวจคลองบางแพรกน้ำสีชมพู พบเชื้อแบคทีเรียเจือปน

F332 1 F332 4

F332 3 F332 2

 

           วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ภายหลังที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (DSS Team) ได้รับสั่งการจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาคุณภาพน้ำสีชมพูในคลองบางแพรกบริเวณหลัง big c สาขาติวานนท์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์น้ำสีชมพูโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ (Compound light microscope) กำลังขยาย 600 เท่า พบว่ามีจุลินทรีย์สีชมพูอยู่จำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นแบคทีเรียซัลเฟอร์สีม่วง (purple sulfur bacteria) ทำให้มองเห็นเป็นสีชมพู โดยแบคทีเรียซัลเฟอร์สีม่วงเป็นแบคทีเรียแบบไม่ใช้ออกซิเจน มักพบในสภาพแวดล้อมของน้ำที่มีการแบ่งชั้น รวมถึงน้ำพุร้อน และแหล่งน้ำนิ่ง ซึ่งน้ำในคลองบางแพรกมีสภาพเป็นน้ำนิ่งเช่นเดียวกัน
           ดังนั้นเมื่อน้ำในคลองบางแพรกมีสภาพไร้อากาศ หรือมีความสกปรกสูงจึงเป็นสภาวะที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของแบคทีเรียซัลเฟอร์สีม่วงโดยจะใช้กรดอินทรีย์ในน้ำเสียและไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นอาหาร รวมทั้งใช้แสงแดดในการสังเคราะห์พลังงาน ซึ่งแนวทางแก้ไขออกซิเจนในคลองบางแพรกควรติดตั้งเครื่องเติมอากาศ หรือลดภาระความสกปรกในรูปของสารอินทรีย์ในคลองบางแพรก เช่น การควบคุมแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ทิ้งลงคลองฯ ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกิจกรรมนั้นๆ และข้อแนะนำสำหรับประชาชน ห้ามนำน้ำในคลองดังกล่าวมาใช้อุปโภค บริโภค เด็ดขาด ให้ระวังการสัมผัสน้ำในคลอง หากมีการสัมผัส ให้รีบทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ทันที
ซึ่งหลังจากนี้ วศ.จะร่วมประชุมกับหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

  1. (ข่าวที่ 47/2567) รมว.อว. “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. เสริมแกร่งอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทย สร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้ประชาชน
  2. (ข่าวที่ 46/2567) วศ.อว. หนุนเทคโนโลยีพัฒนาผู้ประกอบการด้านกระดาษและบรรจุภัณฑ์รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
  3. (ข่าวที่ 45/2567) กรมวิทย์ฯบริการ จับมือ อพวช. ยกขบวนคาราวานวิทยาศาสตร์สุดสนุก!! สร้างแรงบันดาลใจแก่น้องๆ นักเรียน จังหวัดอุทัยธานี
  4. (ข่าวที่ 44/2567) “ศุภมาส” สั่งการ “ทีม DSS” ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำสีชมพู คลองบางแพรก นนทบุรี หวั่นกระทบคุณภาพชีวิตประชาชน
  5. (ข่าวที่ 43/2567) “วศ.อว. พัฒนาเชื่อมโยงบริการทางห้องปฏิบัติการกระทรวง อว. สร้างความเข้มแข็งห้องปฏิบัติการ พร้อมยกระดับการบริการภาครัฐสู่ดิจิทัล”
  6. (ข่าวที่ 42/2567) รมว.อว. “ศุภมาส” ให้ขยายการบริการห้องปฏิบัติการสู่ภูมิภาคและชุมชนทั่วประเทศ เตรียมเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม “นครปฐม” และ ”ราชบุรี” อำนวยความสะดวกประชาชนในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ส่งมอบบริการตรวจวิเคราะห์สินค้าแก่ประชาชนและผู้ประก
  7. (ข่าวที่ 41/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” ย้ำ วศ. เดินหน้าศูนย์ทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (T-CAV) ยกระดับความปลอดภัยยานยนต์ไทย ปูทางสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เข้มแข็ง
  8. (ข่าวที่ 40/2567) “ศุภมาศ” รมว. อว. สั่งการ “ทีม DSS” ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญเพื่อสร้างมาตรการความปลอดภัยแก่ประชาชน
  9. (ข่าวที่ 39/2567) วศ.อว. เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยการขยายขอบข่ายด้านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการสอบเทียบ
  10. (ข่าวที่ 38/2567) “วศ.อว. ร่วมมือ อย. เตรียมเปิดศูนย์ One Stop Service และร่วมตรวจสอบ ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ร่วมดูแลมาตรฐานความปลอดภัยประชาชน”

Page 6 of 409