ข่าวประชาสัมพันธ์

(ข่าวที่195/2568)กรมวิทย์ฯ บริการ ร่วมมือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ถ่ายทอดองค์ความรู้การทดสอบ MOH และ PFAS เสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการไทยสู่มาตรฐานสากล

195 2568

     กรมวิทย์ฯ บริการ ร่วมมือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ถ่ายทอดองค์ความรู้การทดสอบ MOH และ PFAS เสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการไทยสู่มาตรฐานสากล
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2568 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทดสอบสารปนเปื้อนในอาหาร Mineral Oil Hydrocarbons (MOH) และ Per- and Polyfluoroalkyl Substances (PFAS) ณ ห้องประชุมกรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมให้ความรู้ด้านเทคนิคการทดสอบ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลกฎระเบียบและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง
     กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นควบคู่กับการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ สาขาสารปนเปื้อน (Codex Committee on Contaminants in Foods: CCCF) ครั้งที่ 18 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22–27 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อสนับสนุนบทบาทของประเทศในฐานะผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายสำคัญของโลก พร้อมทั้งส่งเสริมให้มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของไทยสอดคล้องกับข้อกำหนดระหว่างประเทศ
กรมวิทย์ฯ บริการ ได้รับเกียรติจาก Dr. Martin Kreutzer (CT-RSA Regulatory and Scientific Affairs Manager) และ Dr. Matthieu Dubois (Chemical Contaminant Expert) ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคการทดสอบ MOH ในกลุ่ม Mineral Oil Saturated Hydrocarbons (MOSH) และ Mineral Oil Aromatic Hydrocarbons (MOAH) รวมถึงการทดสอบ PFAS ซึ่งเป็นสารปนเปื้อนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากอาจส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านเทคนิค วิธีการทดสอบในอาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดของ Codex
     การอบรมมีผู้เข้าร่วมจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์จากกรมวิทย์ฯ บริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ รวมถึงคณาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
    กิจกรรมครั้งนี้สอดคล้องกับโครงการ “พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำมันรำข้าวเพื่อการส่งออก” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ST) ปีงบประมาณ 2568–2569 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพผลการทดสอบของห้องปฏิบัติการให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ลดปัญหาการตีกลับสินค้าในประเทศคู่ค้า และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ศูนย์สื่อสารยุทธศาสตร์ สำนักงานเลขานุการกรม : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่194/2568)กรมวิทย์ฯ​ บริการ เดินหน้ายกระดับการทดสอบถ่าน​กัมมันต์​ ให้ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนส่งทดสอบต่างประเทศ​ ไทยทำได้!

194 2568

     กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสถาบันพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์บริการ เดินหน้าเสริมสร้างสมรรถนะและยกระดับศักยภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบของไทยอย่างต่อเนื่อง จัดโครงการ ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบตามมาตรฐาน DSS Recognized Laboratory” ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “การจัดทำเอกสารในระบบคุณภาพสำหรับการทดสอบหาค่าไอโอดีนนัมเบอร์ในถ่านกัมมันต์” ระหว่างวันที่ 16-17 มิถุนายน 2568 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม​ เป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบไทยให้สามารถให้บริการที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกในอนาคต
     ถ่านกัมมันต์ ถือเป็นวัตถุดิบที่มีบทบาทสำคัญในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ยา เครื่องสำอาง อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งการตรวจวัด “ค่าไอโอดีนนัมเบอร์ (Iodine Number)” เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ใช้ในการประเมินคุณภาพของถ่านกัมมันต์ด้านความสามารถในการดูดซับสาร เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการควบคุมคุณภาพและการรับรองผลิตภัณฑ์ในระดับประเทศและสากล
    การอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องแก่บุคลากรในห้องปฏิบัติการ ให้สามารถจัดทำเอกสารในระบบคุณภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐาน DSS Recognized Laboratory ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความแม่นยำ และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของผลการทดสอบให้เป็นที่  ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในภาคสนาม ทั้งการบรรยายข้อกำหนด โครงสร้างระบบเอกสารคุณภาพ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติจริงในกระบวนการจัดทำเอกสารวิธีทดสอบ การบันทึกข้อมูลทางวิชาการ การจัดทำแผนบำรุงรักษาเครื่องมือ การควบคุมคุณภาพภายใน รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับระบบคุณภาพในเชิงลึก
    การอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอนนท์ ป้อมประสิทธิ์ ข้าราชการบำนาญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการและประสบการณ์ตรง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถนำไปใช้ได้จริงในห้องปฏิบัติการ
   โครงการอบรมในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนห้องปฏิบัติการทดสอบของประเทศไทยให้เข้มแข็งและสามารถรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการทดสอบและรับรองคุณภาพในระดับนานาชาติ สร้างความเชื่อมั่นในผลการทดสอบของไทยในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ศูนย์สื่อสารยุทธศาสตร์ สำนักงานเลขานุการกรม : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่193/2568)กรมวิทย์ฯ บริการติดตั้งเครื่องกรองน้ำในโรงเรียนห่างไกล ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กสุรินทร์

 

193 2568
     เมื่อวันที่ 16-19 มิถุนายน 2568 ตามนโยบายกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เน้นย้ำให้มีการจัดหาน้ำดื่มสะอาดและมีคุณภาพให้แก่โรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนให้สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย ตามมาตรฐานน้ำบริโภค ในการนี้
     กรมวิทย์ฯ บริการ ได้มีการพัฒนาเครื่องกรองน้ำให้สามารถกรองสนิมเหล็ก ตะกอน กลิ่นคลอรีน และความกระด้างในน้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยผ่านระบบการกรองตะกอนและสนิมเหล็ก ระบบการกำจัดกลิ่นคลอรีน ระบบการกรองด้วยสารลดความกระด้าง แล้วผ่านเข้าสู่ระบบกรองใสและระบบฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี ผลิตออกมาเป็นน้ำที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน
    ศูนย์พัฒนาเครื่องมือชุมชน สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน ลงพื้นที่ดำเนินการติดตั้งเครื่องกรองน้ำจำนวน 2 แห่ง ณ โรงเรียนบัวเชดวิทยา ตำบลบัวเชด อำเภอบัวเชด และโรงเรียนนิคมสร้างตนเองประสาท 4 ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
    การติดตั้งเครื่องกรองน้ำในครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพน้ำในสถานศึกษา โดยใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังได้ให้ความรู้ด้านการดูแลรักษาเครื่องกรองน้ำ แก่คณะครูและนักเรียน พร้อมส่งมอบอุปกรณ์การตรวจสอบคุณภาพน้ำเบื้องต้น เพื่อให้โรงเรียนสามารถติดตามและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำได้ด้วยตนเอง
     โครงการนี้สะท้อนถึงความร่วมมือในการทำงานเชิงพื้นที่ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์บริการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิตด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด "เราจะนำวิทยาศาสตร์ สู่การดูแลประชาชน" เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ศูนย์สื่อสารยุทธศาสตร์ สำนักงานเลขานุการกรม : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่192/2568)กรมวิทย์ฯ บริการ จัดสัมมนาระดับนานาชาติ ACC2025 หัวข้อ การทำความเข้าใจและการพัฒนาแนวทางการจัดการปัญหาสาร PFAS ในประเทศไทย เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

 

192 2568

     วันที่ 26 มิถุนายน 2568 กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.กนิษฐ์ ตะปะสา ผู้อำนวยการสถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “Understanding and Development to Address the PFAS Problems in Thailand for Sustainable Environment – การทำความเข้าใจและการพัฒนาแนวทางการจัดการปัญหาสาร PFAS ในประเทศไทย เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีประชุมระดับนานาชาติ The 20th Asian Chemical Congress 2025 (20th ACC 2025) โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ นักวิจัย และภาคเอกชน เข้าร่วม ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร
    ดร.กนิษฐ์ ตะปะสา ผู้อำนวยการสถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ กล่าวว่า การสัมมนาดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสารเคมีตกค้างยาวนาน หรือ PFAS (Per- and polyfluoroalkyl substances) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะความจำเป็นในการยกระดับขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สาร PFAS ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สำหรับไฮไลต์ภายในงาน มีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “PFAS in Thailand: Bridging Knowledge Gaps for Informed and Coordinated Action” โดย ดร. นุจรินทร์ รามัลกุล ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (สวทช.) ที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ PFAS ในประเทศไทย พร้อมแนวทางจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสาร PFAS จากกรมวิทย์ฯ บริการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
     ด้าน ดร. อมรพล ช่างสุพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “Urgent Need to Address the ‘PFAS Problem’ by Improving PFAS Testing to an Accredited PFAS Laboratory” หรือ “ความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไข ‘ปัญหา PFAS’ ด้วยการยกระดับการทดสอบ PFAS ให้ดำเนินการในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง” ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศ.ดร.จงรักษ์ ผลประเสริฐ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร.นรินทร์ บุญตานนท์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สุรัสวดี สุขีสาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองเชิงนโยบายถึงแนวทางการจัดการกับปัญหาสาร PFAS ซึ่งเป็นสารเคมีตกค้างยาวนานที่กำลังเป็นประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับโลก PFAS หรือสารเคมีในกลุ่ม "สารฟลูออริเนต" เป็นสารที่ทนทานต่อความร้อนและสารเคมี มีคุณสมบัติไม่สลายตัวง่าย สามารถตกค้างและสะสมอยู่ในแหล่งน้ำ ดิน อาหาร และแม้กระทั่งในกระแสเลือดของมนุษย์ ส่งผลต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว ซึ่งในประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงและเฝ้าระวังสาร PFAS มากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายในการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์
    ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ บริการ มุ่งหวังให้เวทีเสวนานี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สำคัญ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาคนโยบาย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงาน ถึงความสำคัญของ “ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และตรวจสอบได้” โดยเฉพาะจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านการตรวจวิเคราะห์สาร PFAS ที่ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะทาง และการยกระดับขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการในประเทศ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การพัฒนาแนวทางและนโยบาย เพื่อสร้างระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ศูนย์สื่อสารยุทธศาสตร์ สำนักงานเลขานุการกรม : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่191/2568)กรมวิทย์ฯ บริการ จัดกิจกรรมจิตอาสาปันสุขให้น้องๆ โรงเรียนสอนคนตาบอดฯ ถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระบรมราชินี

 

191 2568
    25 มิถุนายน 2568 กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยนายวันชัย สุวรรณหงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วยนางสาวปัทมา นพรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักวิทยาศาสตร์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร และเจ้าหน้าที่กรมวิทย์ฯ บริการ ร่วมกันจัดกิจกรรมจิตอาสา ภายใต้โครงการ “สุขด้วยกัน แบ่งปันด้วยใจ” เพื่อมอบความสุขและกำลังใจให้กับน้อง ๆ ในโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ สังกัดมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมีนายประสงค์ สุบรรณพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ให้การต้อนรับ
    ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ บริการได้มีการนำสิ่งของ เสื้อผ้าและอาหารแห้งไปร่วมบริจาค รวมถึงช่วยกันทำสมุดอักษรเบรลล์ บันทึกเสียงอ่านหนังสือ พร้อมจัดเลี้ยงอาหารว่างให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนสอนคนตาบอดฯ บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น และรอยยิ้มแห่งความสุขจากการได้แบ่งปัน
   นายวันชัย สุวรรณหงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่ากิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2568 อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ค่านิยมองค์กรของกรมวิทย์ฯ บริการ “สุข สามัคคี รับผิดชอบต่อหน้าที่” ผ่านการทำความดีร่วมกัน ด้วยหัวใจแห่งความเสียสละและความผูกพัน ซึ่งกรมวิทย์ฯ บริการ จะจัดกิจกรรมจิตอาสาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสังคมแบะวัฒนธรรมดี ๆ แก่องค์กรต่อไป

ดูรูปภาพเพิ่มเติมคลิก>>

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ศูนย์สื่อสารยุทธศาสตร์ สำนักงานเลขานุการกรม : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

  1. (ข่าวที่190/2568)กรมวิทย์ฯบริการ จัดเวทีเสวนา “ปลดล็อกงานวิจัยจากแลปสู่ตลาด ด้วยมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์”
  2. (ข่าวที่189/2568) กรมวิทย์ฯบริการ รับมอบหนังสือจากอมรินทร์ สนับสนุนกิจกรรมห้องสมุดสีเขียว
  3. (ข่าวที่188/2568)เสริมแกร่งกำลังคนวิทยาศาสตร์ไทย! กรมวิทย์ฯ บริการ เปิดอบรม “เทคนิคการเตรียมสารละลาย” เน้นปฏิบัติจริง ยกระดับห้องแล็บไทยสู่มาตรฐานสากล
  4. (ข่าวที่187/2568)กรมวิทย์ฯ บริการ เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ 20th Asian Chemical Congress (20ACC)
  5. (ข่าวที่186/2568)กรมวิทย์ฯ บริการ จับมือ กฟภ. เดินหน้าโครงการ "PEA หมู่บ้านช่อสะอาด" ประจำปี 2568 ยกระดับโรงเรียนบ้านมาบกรูด จ.ชลบุรี สู่แหล่งเรียนรู้สีเขียว
  6. (ข่าวที่185/2568)กรมวิทย์ฯบริการ ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2568
  7. (ข่าวที่184/2568)กรมวิทย์ฯ บริการ ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ยกระดับห้องแล็บทดสอบน้ำ ปูทางสู่มาตรฐาน DSS Recognized Laboratory พัฒนาการตรวจสอบน้ำไทย สะอาด ปลอดภัย มั่นใจได้!
  8. (ข่าวที่183/2568)กรมวิทย์ฯ บริการ ร่วมกับ คณะทำงานพัฒนากิจกรรมการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ และผลิตวัสดุอ้างอิงของประเทศ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จัดอบรมหลักสูตร “การจัดการความเสี่ยงสำหรับผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ”
  9. (ข่าวที่182/2568)กรมวิทย์ฯ บริการ เข้าร่วมงาน“ครบรอบ 22 ปี เซ็นทรัลแล็บไทย” ก้าวสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการไทย ด้วยมาตรฐานสากล
  10. (ข่าวที่181/2568)กรมวิทย์ฯ บริการ จัดประชุมผลงานวิจัยการสำรวจไมโครพลาสติกในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568

Page 5 of 506