ข่าวประชาสัมพันธ์

(ข่าวที่ 95/2567) กรมวิทย์บริการ ชี้ กระดาษห่อไก่ทอด อาจมีสารพิษตกค้างที่เกิดโทษต่อร่างกายในระยะยาวได้ ถ้ากระดาษที่ใช้ไม่ได้รับการรับรองว่าสัมผัสอาหารได้

F484 4 F484 1

F484 6 F484 3

 

          จากกรณีสื่อโซเชียลเผยแพร่คลิปร้านขายไก่ทอดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการนำไก่ที่ปรุงรสไปใส่ในถุงกระดาษ แล้วนำไปทอดในน้ำมันเดือดๆ จนไก่สุก หรือเรียกว่า กระดาษห่อไก่ทอด
.
          ดร.กนิษฐ์ ตะปะสา รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิเคราะห์ทดสอบ โฆษกกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่าปัจจุบันเยื่อกระดาษที่นำมาผลิตกระดาษจะมีอยู่ 2 ประเภทคือเยื่อบริสุทธิ์ (เยื่อกระดาษจากต้นไม้) และเยื่อรีไซเคิล โดยกระบวนการผลิตเยื่อบริสุทธิ์นั้นมีการใช้สารเคมีในหลายขั้นตอน เช่น การต้มเยื่อจะใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโซดาไฟ ที่ทำให้ได้เยื่อสีน้ำตาล และขั้นตอนการฟอกเยื่อจะใช้สารประกอบคลอรีนเป็นสารเคมีหลัก ซึ่งจะทำให้ได้เยื่อสีขาว สารเคมีที่ใช้เหล่านี้จะถูกชะล้างด้วยน้ำออกเกือบหมดหรือเหลือตกค้างในปริมาณที่น้อยมาก แต่ก็อาจจะมีโลหะหนักตกค้างในเยื่อได้ ซึ่งโลหะหนักอาจปนเปื้อนมาจากหลายแหล่ง เช่น ปนมากับน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต หรือปนมากับน้ำมันที่ใช้กับเครื่องจักรในการผลิต เป็นต้น ส่วนเยื่อรีไซเคิลที่นำกระดาษใช้แล้วมาปั่นรวมกันแล้วแยกสิ่งแปลกปลอมออก ผ่านขั้นตอนการกำจัดหมึก (Deinking) เยื่อกระดาษที่ได้ยังมีสารพิษปนเปื้อนที่ขจัดออกไม่หมดตกค้างอยู่มาก
.
          ถ้ากระดาษที่ใช้ห่อไก่ทอดตามคลิป หรือกระดาษที่ใช้รองรับหรือสัมผัสอาหารที่ปรุงด้วยความร้อน เช่น ใช้กรองของเหลวร้อน อุ่นอาหาร หรือปรุงสุกอาหาร ไม่ได้รับการรับรองว่าสัมผัสอาหารได้ อาจมีสารเคมีอันตรายหรือโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม และสารกลุ่มทาเลต ที่ปนอยู่ในเนื้อกระดาษ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ปนเปื้อนออกมาสู่อาหารและเข้าสู่ร่างกายก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ โดยเฉพาะถ้ากระดาษประเภทนั้นทำจากเยื่อรีไซเคิลหรือมีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิล ความเสี่ยงต่อสารพิษก็ยิ่งจะมีเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า
.
          สำหรับการนำไก่ใส่ถุงกระดาษแล้วนำลงไปทอดในน้ำมันเดือดๆ นั้น แม้ว่ากระดาษที่ใช้จะถูกออกแบบมาให้ทนกับความร้อนสูงได้ ซึ่งกระดาษจะมีจุดติดไฟได้เองประมาณ 220 องศาเซลเซียส และน้ำมันสำหรับทอดไก่จะมีอุณหภูมิประมาณ 175-190 องศาเซลเซียส ทำให้กระดาษไม่ลุกติดไฟ แต่ด้วยความร้อนสูงดังกล่าวอาจจะเป็นตัวเร่งทำให้สารพิษที่ตกค้างในกระดาษปนเปื้อนออกมาสู่อาหารได้มากยิ่งขึ้น
.
           โฆษกกรมวิทยาศาสตร์บริการ แนะนำประชาชนควรเลือกซื้อกระดาษสัมผัสอาหารหรือซื้ออาหารจากร้านที่ใช้กระดาษสัมผัสอาหาร ที่ได้รับการรับรองว่า สามารถสัมผัสอาหารได้ โดยดูที่ฉลากจะระบุข้อความว่าสัมผัสอาหารได้ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่เกี่ยวกับกระดาษสัมผัสอาหารซึ่งปัจจุบันจะมี 2 มาตรฐาน คือ มอก. 2948-2562 กระดาษสัมผัสอาหาร (Paper for food contact) ซึ่งครอบคลุมกระดาษสำหรับใช้กับอาหารทั่วไป และ มอก. 3438-2565 กระดาษสัมผัสอาหาร สำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน (Cooking paper) ซึ่งครอบคลุมกระดาษสำหรับใช้สัมผัสอาหาร เพื่อกรองของเหลวร้อน อุ่นอาหารหรือปรุงอาหารที่อุณหภูมิไม่เกิน 220 องศาเซลเซียส
.
          ทั้ง 2 มาตรฐานจะมีการควบคุมและทดสอบปริมาณสารเคมีอันตราย หรือโลหะหนักที่มีโอกาสปนเปื้อนกับอาหาร เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท สารฟอกนวล สารต้านจุลินทรย์ และสารกลุ่มทาเลต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายกับผู้ใช้ รวมทั้งการควบคุมกระบวนการผลิต และสถานที่ผลิตจะต้องถูกสุขลักษณะที่ดี และต้องได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์ของสากล เช่น GMP HACCP หรือ BRC ด้วย โดยต้องเลือกใช้ให้ถูกว่าเราต้องการใช้กระดาษสัมผัสอาหารแบบใช้กับอาหารทั่วไปหรือใช้สำหรับปรุงอาหารด้วยความร้อน และสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับอาหารทอดนั้น คือน้ำมันที่ใช้ทอด หากเป็นน้ำมันที่ทอดซ้ำหลายครั้งหรือน้ำมันที่เสื่อมคุณภาพ จะมีสารก่อมะเร็งแน่นอน ควรหลีกเลี่ยงน้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

 

(ข่าวที่ 94/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. ยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ล่าสุดเพิ่มศักยภาพ ได้กว่า 100 ราย เพิ่มรายได้กว่า 1 พันล้านบาท

F483 3 F483 2

F483 4 F483 1

 

            วันที่ 19 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมก้าวทันอนาคต โดยการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการSMEs ให้มีความสามารถในการผลิตนวัตกรรมอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพ ได้กว่า 100 ราย เพิ่มรายได้ สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 1 พันล้านบาท
           นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า จากการที่ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ความสามารถในการซื้อขายของผู้บริโภคลดลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหาร SMEs ต้องปิดกิจการไปหลายรายและยังอยู่ในสภาวะฟื้นตัว
           วศ.อว. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอาหาร ซึ่งมีกระบวนการตั้งโจทย์ และปัญหาที่พบร่วมกับผู้ประกอบการอาหาร เพื่อให้มีการแก้ปัญหาและพัฒนาสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriated technology) โดยดำเนินการวิจัยในห้องปฏิบัติการแปรรูปอาหาร ห้องทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ห้องทดสอบรสชาติอาหารไทยของ วศ.อว. เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบมีการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสอาหารให้มีข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคด้านความชอบและการยอมรับ
           ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวฯ ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลดลง สามารถเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง วศ.อว. ได้นำองค์ความรู้ด้านการผลิตฯ ที่มีคุณภาพความปลอดภัยตามข้อกำหนดของ อย. ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการอาหาร SMEs มากกว่า 100 ราย โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและแก้ปัญหากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพความปลอดภัย เก็บรักษาได้นาน เช่น ผลิตภัณฑ์สาคูกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เม็ดไข่มุกจากสาคู ผลิตภัณฑ์บะหมี่จิ้งหรีด ผลิตภัณฑ์ครีมเทียมเจ สูตรต้นแบบแป้งกล้วยทอดกรอบผลิตภัณฑ์ถั่วดาวอินคาแผ่นกรอบ ผลิตภัณฑ์ไซรัปกัญชง พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำพริกอ่องกึ่งสำเร็จรูปด้วยเทคโนโลยี Freeze drying พัฒนากระบวนการเก็บรักษาน้ำจิ้มข้าวมันไก่ เป็นต้น
           นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า วศ.อว. มุ่งมั่นในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการอาหารได้อย่างแท้จริง และในอนาคต วศ.อว. จะขยายผลการดำเนินงานสู่ผู้ประกอบการอาหารทั่วประเทศ สนับสนุนการสร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคตให้สอดรับกับบริบทการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนอย่างมั่นคง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 93/2567) “หมอรุ่งเรือง” อธิบดี วศ. แนะวิธีรับมือสารแอมโมเนีย ผู้ได้รับผลกระทบต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อาจอันตรายเสียชีวิต พบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์

F482 3 F482 1 F482 2

 

          จากกรณีเกิดการรั่วไหลของ “สารแอมโมเนีย” อย่างรุนแรง มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 160 คน เหตุเกิดภายในโรงงานน้ำแข็งราชา เลขที่ 54 ถนนชัยพรวิถี (ซอยหนองปรือ) หมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งในที่เกิดเหตุพบว่ามีกลุ่มควันสีขาวลอยพวยพุ่งอยู่ในชั้นอากาศ สูงจากพื้นดินประมาณ 3-4 เมตรในปริมาณมาก ซึ่งมีกลิ่นคล้ายสารแอมโมเนียใช้ในการผลิตน้ำแข็ง เมื่อสูดเข้าไปจะมีอาการแสบคอ หายใจไม่ออก และแสบตาอย่างมาก
          นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ข้อมูลว่า “แอมโมเนีย” ชื่อทางเคมี คือ แอมโมเนีย แอนไฮดรัส (Ammonia Anhydrous) สูตรเคมี คือ NH₃ มวลโมเลกุล 17.03 จุดเดือด -33.35 องศาเซลเซียส จุดหลอมเหลว -77.7 องศาเซลเซียส มีสถานะทั้งที่เป็นของเหลวและก๊าซ ตามที่เป็นข่าวนั้นคือ แอมโมเนียในสถานะก๊าซเป็นก๊าซที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง สามารถละลายน้ำได้ดี จัดเป็นสารเคมีอันตรายประเภท ก๊าซพิษและกัดกร่อน (Gases-Corrosive) เนื่องจากมีจุดเดือดต่ำ ราคาถูก ไม่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศเมื่อเทียบ กับสารทำความเย็นคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ชนิดอื่นๆ และมีประสิทธิภาพสูงในการทำความเย็น จึงนิยมนำมาเป็นสารนำความเย็นในระบบทำความเย็นโดยเฉพาะโรงงานทำน้ำแข็งและอุตสาหกรรมห้องเย็น เมื่อเกิดการรั่วไหลก๊าซแอมโมเนียจะรวมตัวกับความชื้นในอากาศทําให้เกิดเป็นหมอกควันสีขาวของแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์
           ก๊าซแอมโมเนียมีความเป็นพิษและอันตรายต่อมนุษย์ในลักษณะความเป็นพิษเฉียบพลัน (Acute toxic) ถ้าได้รับปริมาณน้อยๆ อยู่เป็นประจำจะมีอาการพิษเรื้อรัง ถ้าได้รับปริมาณสูง ทำให้เสียชีวิตได้ในทันที โดยมีอันตรายต่อร่างกาย ประกอบด้วย
          1. สัมผัสทางการหายใจ: การหายใจเข้าในปริมาณมากกว่า 25 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ทำให้ระคายเคืองจมูกและคอ ถ้าได้รับในปริมาณมากจะหายใจติดขัด เจ็บหน้าอก หลอดลมบีบเกร็ง มีเสมหะและปอดบวม มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาเจียน ความดันโลหิตเพิ่ม
          2. สัมผัสทางผิวหนัง: ถ้าได้รับปริมาณมากในระยะสั้น ๆ ทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนัง เป็นผื่นแดง บวม เป็นแผล ถ้าได้รับปริมาณมากๆ และมีความเข้มข้นสูงทำให้ผิวหนังไหม้แสบ บวม เป็นน้ำเหลืองจากความเย็น
          3. สัมผัสถูกตา: ทำให้เจ็บตา ตาบวม น้ำตาไหล คันที่ดวงตา ถ้าได้รับซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวทำให้เกิดอาการระคายเคืองเรื้อรังต่อตาอย่างถาวร
          4. การกินเข้าไป: ทำให้เกิดอาการแสบไหม้บริเวณปาก คอ หลอดอาหารและกระเพาะอาหาร
          5. ทำลาย ไต ตับ ปอด ในกรณีที่ได้รับสารแอมโมเนียจำนวนมาก
           ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติจากก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลและมีอาการตาอักเสบ น้ำตาไหล หายใจหอบถี่ แสบคอ จมูก หรือผิวหนังอักเสบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพบแพทย์โดยทันที นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่วางไว้ในบ้านและไม่มีการป้องกันช่วงเกิดเหตุ เพราะอาจได้รับก๊าซแอมโมเนียเข้าสู่ร่างกายได้ ในด้านป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหมั่นสังเกตความผิดปกติ ถ้าได้กลิ่นก๊าซแอมโมเนียให้รีบอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังจุดที่ปลอดภัยไม่ได้รับกลิ่นก๊าซดังกล่าว ซึ่งถ้าไม่สามารถอพยพได้ให้อยู่ในบ้านรีบปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด พร้อมสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมีตลอดเวลาเพื่อไม่ให้รับสัมผัสสูดดมก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

 

(ข่าวที่ 92/2567) รมว. “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. ผลักดันผลิตภัณฑ์ขึ้นบัญชีนวัตกรรม ล่าสุด “แผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพ ผลิตได้เองในประเทศ ผู้ป่วยพึงพอใจ เริ่มใช้งานใน รพ. ทั่วประเทศ”

F480 4 F480 1

F481 F481 2

 

          วันที่ 18 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัญหาของงานวิจัยไทยในปัจจุบัน แม้มีจำนวนมากแต่ไม่สามารถผลักดันการใช้งานจริงเท่าที่ควร เนื่องจากผลิตภัณฑ์นวัตกรรมส่วนใหญ่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานหรือเกณฑ์การรับรองคุณภาพมาอ้างอิง ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การใช้งานได้จริง และไม่สามารถถูกนำไปผลิตขายได้ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น ตนได้เร่งให้มีการจัดทำมาตรฐานเพื่อที่จะรับรองและผลักดันให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสามารถขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยให้ได้ โดยมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ซึ่งเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานระดับชาติ (Standards Developing Organization หรือ SDO)เร่งประสานความร่วมมือกับนักวิจัยไทยในการจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) เพื่อสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นผลงานนักวิจัยที่จะนำไปสู่การใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
          นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของท่านรัฐมนตรี อว. ที่เร่งให้มีการจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัย วศ.อว.ได้จัดทำโครงการการพัฒนาเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อผลักดันเข้าสู่เชิงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมให้ทันต่อความต้องการของผู้พัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการเพื่อผลักดันเข้าสู่เชิงพาณิชย์ และเสนอแนวทางการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ โดยใช้กลไกการจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specification) สำหรับใช้ในการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
           ล่าสุด วศ.อว. สามารถผลักดันงานวิจัย “แผ่นยางสำหรับผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพเฉพาะบุคคล” โดยที่ วศ. ได้ร่วมมือกับนักวิจัยในประเทศ ได้พัฒนาข้อกำหนดคุณลักษณะเพื่อรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์และผลักดันให้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย สำนักงบประมาณ และได้นำแผ่นรองฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพไปใช้งานจริงในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
           สำหรับงานวิจัย “แผ่นยางรองฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ” ดังกล่าว เป็นงานวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่างนักวิจัยภาคเอกชนกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ออกแบบแผ่นรองฝ่าเท้าสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเท้า ซึ่งได้รับการออกแบบเป็นพิเศษทั้งในส่วนของวัสดุที่ใช้ทำแผ่นรองฝ่าเท้าและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการขึ้นรูปอย่างแม่นยำ มีวัตถุประสงค์ช่วยกระจายน้ำหนักให้ทั่วฝ่าเท้า และสามารถลดปัญหาเกี่ยวกับบาดแผล อาการเท้าผิดรูป และผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเท้า เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคที่เท้าได้ง่าย ผู้ที่มีลักษณะเท้าแบนที่เกิดอาการข้อเท้าและนิ้วเท้าผิดรูปได้ง่าย ผู้ป่วยที่มีปัญหารองช้ำ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการแผ่นรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับรูปเท้าและสวมใส่สบาย
           โดยทีมวิจัยได้คิดค้นวัสดุผสมเอทิลีนไวนิลอะซิเตท (Ethylene-vinyl acetate: EVA) กับพอลิเมอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติกระจายแรงกดและลดแรงกระแทกจากการเดินหรือวิ่ง มีความยืดหยุ่น คืนตัวได้ดีเมื่อโค้งงอ น้ำหนักเบา กันน้ำ และนุ่มสบายเมื่อสวมใส่ วัสดุผสมดังกล่าวใช้ร่วมกับการออกแบบพื้นรองเท้าเฉพาะรายบุคคลด้วยโปรแกรมออกแบบสามมิติ และเครื่องกัดขึ้นรูป CNC (Computer numerical control) ทำให้การขึ้นรูปมีความละเอียดและแม่นยำสูง แม้ว่าได้จดอนุสิทธิบัตรของวัสดุผสม EVA (เลขที่ 2003001509) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 อย่างไรก็ตามนวัตกรรมวัสดุผสมดังกล่าว ยังไม่สามารถขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องไม่มีมาตรฐานหรือข้อกำหนดคุณลักษณะผลิตภัณฑ์ที่จะรับรองผลิตภัณฑ์ชนิดนี้
            นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีดังกล่าว วศ.อว. จึงได้เข้าช่วยเหลือทำงานร่วมกับนักวิจัยโดยได้เร่งจัดทำเป็นข้อกำหนดคุณลักษณะของแผ่นยางรองฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพขึ้น และได้ออกเป็นประกาศกรมวิทยาศาสตร์บริการ ข้อกำหนดคุณลักษณะแผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพเฉพาะบุคคล (DSS 6) เพื่อรับรองและผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดังกล่าว ทำให้สามารถขึ้นทะเบียนนวัตกรรมได้สำเร็จ และกระจายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ที่ผลิตได้เองในประเทศโดยคนไทย มีราคาย่อมเยา เป็นที่พึงพอใจของผู้ป่วย
            นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเน้นย้ำว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. มุ่งมั่นผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วยการจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน ต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 91/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อมการวัดค่า Chemical Oxygen Demand (COD)

F477 4 F477 2

F477 3 F477 1

 

           กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ได้จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (Proficiency Testing: PT) โดยดำเนินการจัดส่งตัวอย่าง ให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการภายในประเทศ จำนวน 308 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัดในรายการ Chemical Oxygen Demand (COD) in water และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นระบบที่ลดปริมาณของเสียที่อยู่ในสภาพของเหลวให้น้อยลงหรืออยู่ในสภาพที่ไม่ก่อปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้น น้ำเสียเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการบำบัด และต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายกำหนดก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตัวชี้วัดคุณภาพน้ำและน้ำทิ้งมีด้วยกันหลายพารามิเตอร์ Chemical Oxygen Demand (COD) เป็นหนึ่งในพารามิเตอร์ที่ต้องควบคุม โดย COD เป็นการวัดปริมาณออกซิเจนที่ใช้สำหรับทำปฎิกิริยาเคมีกับสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำ ให้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ในสภาวะที่เป็นกรดเข้มข้นและมีอุณหภูมิสูง ซึ่งหากระดับ COD สูงจะบ่งบอกว่า น้ำมีสารประกอบอินทรีย์จำนวนมากซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ COD ยังใช้เป็นมาตรฐานทางอ้อม เพื่อบ่งบอกปริมาณการมีอยู่ของมลพิษ เช่น สารเคมีเป็นพิษและโลหะหนัก ด้วยเหตุนี้ COD จึงเป็นพารามิเตอร์สำหรับการรับรองความปลอดภัยของน้ำ
            กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้สนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพน้ำ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อม รายการ Chemical Oxygen Demand (COD) in water เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำ เพื่อให้ได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการ และติดตามความต่อเนื่องของความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระบุปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป เช่น ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ และความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการซึ่งเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

  1. (ข่าวที่ 90/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและกิจกรรมฟังบรรยายธรรมะ ส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี
  2. (ข่าวที่ 89/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เรื่อง การตรวจวิเคราะห์หาปริมาณของแข็งละลายน้ำ (Total Dissolved Solids : TDS)
  3. (ข่าวที่ 88/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” ห่วงใยประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ แนะให้ใช้ “ดินสอพอง” ที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัย หลัง วศ.อว. ตรวจพบกว่าร้อยละ 42.6 ปลอม เสี่ยงอันตราย
  4. (ข่าวที่ 87/2567) กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดกิจกรรม “รดน้ำชุ่มฉ่ำ ฟังธรรมชุ่มใจ วศ.อนุรักษ์ประเพณีไทย สานสายใยผู้อาวุโส ประจำปี 2567” นิมนต์หลวงพ่ออลงกต รับบิณฑบาต และเทศนาธรรมเพื่อความเป็นสิริมงคแก่ชาว วศ.อว. เนื่องในเทศกาลสงกรานต์
  5. (ข่าวที่ 86/2567) “หมอรุ่งเรือง” ยืนยันข้อมูลวิทยาศาสตร์ วศ.อว “แกงไตปลา” อาหาร อัตลักษณ์ปักษ์ใต้ของไทย มีประโยชน์สูงต่อสุขภาพ
  6. (ข่าวที่ 85/2567) ด่วน รมว. ศุภมาส สั่งการหน่วยปฏิบัติการ “DSS วศ.อว” พร้อมลงพื้นที่ กรณีแคดเมี่ยมสมุทรสาคร เร่งเฝ้าระวังควบคุม ป้องกันผลกระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม
  7. (ข่าวที่ 84/2567) วศ.อว. ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. กับ 3 หน่วยงานเครือข่ายภาคใต้ ในการอนุรักษ์พืชท้องถิ่นและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  8. (ข่าวที่ 83/2567) วศ.อว. พัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำฯ หนุนสร้างความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  9. (ข่าวที่ 82/2567) วศ.อว. ร่วมประชุมทางวิชาการระดับชาติ เรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่ความยั่งยืน (Library Development Towards Sustainability) และประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
  10. (ข่าวที่ 81/2567) วศ.อว. ปลื้ม 2 ข้าราชการพลเรือนดีเด่น รับมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ จาก รมว.อว. “ศุภมาส“ เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน

Page 2 of 414