ข่าวประชาสัมพันธ์

(ข่าวที่ 89/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เรื่อง การตรวจวิเคราะห์หาปริมาณของแข็งละลายน้ำ (Total Dissolved Solids : TDS)

F489 4 F489 3

F489 2 F489 1

 

          กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดย กลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ได้จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (Proficiency testing, PT) โดยจัดส่งตัวอย่างน้ำให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 356 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบ ในรายการ Total Dissolved Solids (TDS) in water และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อประเมินผลทางสถิติโดยวิธีการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป
          ของแข็งละลายน้ำ (Total Dissolved Solids; TDS) คือ การวัดปริมาณของแข็ง สารอนินทรีย์และสารอินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำ แหล่งของสารอินทรีย์เกิดได้จาก ตะกอน กากอุตสาหกรรม สิ่งปฏิกูลที่มาจากพื้นที่เขตเมือง ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ใช้ในสนามหญ้าและฟาร์ม เป็นต้น สำหรับแหล่งของสารอนินทรีย์ ได้แก่ หินและอากาศที่อาจมีไบคาร์บอเนต แคลเซียม ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เหล็ก กำมะถัน และแร่ธาตุอื่น ๆ ปะปนร่วมกันอยู่ ค่ามาตรฐานของ TDS ไม่ควรเกิน 500 mg/L หรือ 500 ppm หากค่า TDS เกิน 1000 mg/L จะเป็นน้ำที่ไม่เหมาะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ในการทดสอบค่า TDS ได้แก่ (1) ด้านรสชาติ/สุขภาพ น้ำที่มีรสชาติแปลก ๆ เช่น เค็ม ขม หรือเหมือนมีโลหะผสมอยู่ เมื่อวัดหาค่า TDS มักจะมีค่าสูง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปนเปื้อนแร่ธาตุที่เป็นพิษ (2) ค่า TDS จะบ่งชี้ถึงความกระด้างของน้ำได้ ซึ่งความกระด้างของน้ำเป็นสาเหตุของการก่อตัวของหินปูนในท่อ หรือตามวาล์ว (3) การเลี้ยงสัตว์น้ำคุณภาพน้ำที่ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรมีระดับของแร่ธาตุที่จำเป็นใกล้เคียงกับที่มีอยู่ตามธรรมชาติของสัตว์น้ำนั้น ดังนั้นการตรวจระดับ TDS และ pH ในน้ำจะเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพน้ำที่สำคัญ (4) ตรวจวัดคุณภาพน้ำเสีย น้ำทิ้งจากบ่อบำบัดโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องได้คุณภาพตามมาตรฐานโรงงาน เป็นต้น
          กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพน้ำ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อม รายการ Total Dissolved Solids (TDS) in water เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำ เพื่อให้ได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล ถือเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการ และติดตามความต่อเนื่องความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระบุปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป เช่น ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ และความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 88/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” ห่วงใยประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ แนะให้ใช้ “ดินสอพอง” ที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัย หลัง วศ.อว. ตรวจพบกว่าร้อยละ 42.6 ปลอม เสี่ยงอันตราย

F474 4 F474 2

F474 1 F474 3

 

            เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ฝากความห่วงใยถึงประชาชนที่จะสนุกสนานกับกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 นี้ จนอาจลืมนึกถึงความปลอดภัย ทั้งนี้ พบว่าหนึ่งในประเพณีนิยมนอกจากการสาดน้ำ คือการประแป้งด้วย “ดินสอพอง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการคลายร้อนของไทย ทางกระทรวง อว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ดินสอพองที่มีคุณภาพตามมาตรฐานเพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ทุกคน รมว.อว. จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. สำรวจคุณภาพของดินสอพองที่วางขายในท้องตลาด และแนะนำวิธีการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นดินสอพองของแท้ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
            นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า “ดินสอพอง” เป็นหนึ่งในของใช้ที่อยู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัยโดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ดินสอพองนับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการคลายร้อนและสร้างความสนุกสนาน นอกจากทำให้ร่างกายเย็นสบายแล้วการใช้ดินสอพองประหน้ายังสามารถป้องกันแดดได้ดีอีกด้วย อย่างไรก็ตามผู้ใช้จะต้องมั่นใจว่าดินสอพองที่ใช้นั้นเป็นของแท้ที่ผลิตจากดินมาร์ล หรือปูนมาร์ล (Marl) ที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบหลัก กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการสุ่มตรวจคุณภาพของดินสอพองที่วางขายอยู่ในท้องตลาด
            พบว่ายังมีดินสอพองปลอมถึงร้อยละ 42.6 ที่มียิปซัมหรือแคลเซียมซัลเฟตเป็นองค์ประกอบหลัก แทนดินสอพองของแท้ที่ผลิตจากปูนมาร์ลหรือแคลเซียมคาร์บอเนต โดยฝุ่นยิปซัมนี้ถ้าเข้าไปในระบบทางเดินหายใจสามารถทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เจ็บคอ ระคายเคือง จมูกอักเสบ ปอดบวม และหายใจลำบากได้ หากสัมผัสกับผิวอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คัน เป็นผื่นหรือเป็นลมพิษได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความไวของผิวต่อสารเคมีของแต่ละบุคคล โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ด้วยการใช้น้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูหยดลงในดินสอพอง หากเกิดฟองฟู่แสดงว่าเป็นดินสอพองแท้ แต่หากไม่เกิดปฏิกิริยาใด ๆ แสดงว่าเป็นดินสอพองปลอม
            นอกจากนั้นห้องปฏิบัติการ วศ. ยังได้ตรวจพบว่าดินสอพองที่สุ่มมาจำนวนร้อยละ 48 มีจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์และรา มากกว่า 1,000 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ดินสอพองแปรรูป (มผช.453-2560) อีกทั้งยังพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนัง Clostridium spp. และเชื้อที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ Staphylococcus aureus หากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ติดเชื้อได้ ในกรณีที่เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีแผล รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติ
           นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเน้นย้ำว่า ดินสอพองที่ขายในท้องตลาดมีเป็นจำนวนมากซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดว่าเป็นดินสอพองของแท้ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ดังนั้นประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ควรระวังอย่าให้เข้าจมูกหรือปาก หรือหากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรหลีกเลี่ยงดินสอพอง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ควรมั่นใจว่าดินสอพองที่จะจำหน่ายให้ประชาชนต้องเป็นของแท้และมีคุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนดเท่านั้น
            วศ.อว.ขอให้ข้อแนะนำประชาชน ในการสังเกตบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดีหรือไม่ หากเป็นแบบซองหรือแบบกระปุกพลาสติก ก็ควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท สะอาด ไม่ชำรุดหรือฉีกขาด พร้อมกับอย่าลืมตรวจสอบฉลากด้วยว่ามีส่วนประกอบ ชื่อแหล่งที่ผลิตและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. หรือเครื่องหมาย OTOP ที่รับรองมาตรฐานว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 87/2567) กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดกิจกรรม “รดน้ำชุ่มฉ่ำ ฟังธรรมชุ่มใจ วศ.อนุรักษ์ประเพณีไทย สานสายใยผู้อาวุโส ประจำปี 2567” นิมนต์หลวงพ่ออลงกต รับบิณฑบาต และเทศนาธรรมเพื่อความเป็นสิริมงคแก่ชาว วศ.อว. เนื่องในเทศกาลสงกรานต์

F473 4 F473 1

F473 2 F473 3

 

          เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ วศ. เข้าร่วมงาน “รดน้ำชุ่มฉ่ำ ฟังธรรมชุ่มใจ วศ.อนุรักษ์ประเพณีไทย สานสายใยผู้อาวุโส ประจำปี 2567” วัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อส่งเสริม พัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของบุคลากร วศ. ตลอดจนรณรงค์ให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ตระหนักในคุณค่า ยกย่องเชิดชู และให้ความสำคัญผู้สูงอายุที่สร้างคุณประโยชน์แก่กรมวิทยาศาสตร์บริการมานาน เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฯ มีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึ่งจะเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติแก่บุคลากรรุ่นหลังต่อไป ณ ห้องประชุมวิทยวิถี ชั้น6 อาคารตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
          ช่วงเช้า นายแพทย์รุ่งเรืองฯ อธิบดี วศ. พร้อมด้วยบุคลากร วศ. ร่วมทำบุญตักบาตร พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) วัดพระบาทน้ำพุ อ.เมือง จ.ลพบุรี พร้อมฟังธรรมะดีๆเพิ่มพูนปัญญา พร้อมแนวคิดและคติธรรม เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในภาคบ่ายเป็นกิจกรรม วศ.อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย สร้างสายใยผู้อาวุโส ซึ่งเป็นกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูปประจำ วศ. และรดน้ำขอพรผู้อาวุโส เพื่อเป็นสิริมงคลของชีวิตในโอกาสเริ่มต้นปีใหม่ไทย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 86/2567) “หมอรุ่งเรือง” ยืนยันข้อมูลวิทยาศาสตร์ วศ.อว “แกงไตปลา” อาหาร อัตลักษณ์ปักษ์ใต้ของไทย มีประโยชน์สูงต่อสุขภาพ

F472 1 F472 2

 


           จากกรณีเว็บไซต์ต่างประเทศที่ให้ข้อมูลอาหารจากทั่วโลก ออกมาเผยการจัดอันดับ 100 เมนูยอดแย่ของโลก ซึ่งปรากฏว่าเมนู “แกงไตปลา” ของประเทศไทย ได้อันดับ 1 เมนูยอดแย่ของโลก นั้น
           ล่าสุด นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับกรณีนี้ โดยระบุว่า แกงไตปลา เป็นอาหารที่เป็นภูมิปัญญาชาวปักษ์ใต้ กระบวนการทำแกงไตปลาอาศัยการสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมในด้านอาหารของชาวใต้ จากข้อมูลศูนย์วิทยาศาสตร์ วศ.อว. ยืนนยันว่า เมนูแกงไตปลานิยมใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ในชุมชนและท้องถิ่น มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ พริกแกง (นิยมใช้กระเทียม พริกขี้หนู พริกไทย ตะไคร้ ขมิ้นชัน หอมแดง) ปลาย่าง (นิยมใช้ปลาโอ) ไตปลา (นิยมใช้เครื่องในปลากะพงขาว) กะปิ และเครื่องปรุงรส มีกระบวนการผลิตโดยนำไตปลาสดหรือไตปลาหมัก ใส่น้ำสะอาด ต้มให้เดือด กรอง ใส่เครื่องแกงและเครื่องปรุงรส ซึ่งแกงไตปลาเป็นอาหารที่มีรสจัด จึงนิยมรับประทานร่วมกับผักชนิดต่างๆ เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ ใบมะม่วงอ่อน สะตอ ลูกเนียงหรือลูกพะเนียง
          ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า แกงไตปลาเป็นเมนูสำหรับผู้รักสุขภาพอย่างแท้จริง แกงไตปลามีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เนื่องจากมีส่วนประกอบของสมุนไพรหลากหลายชนิด เช่น กระเทียมช่วยลดระดับคลอเรสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ ขมิ้นชันรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ตะไคร้ช่วยขับปัสสาวะ ขับสารพิษ ขมิ้นชันรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หอมแดงเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก พริกขี้หนูช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และไขมันเลว เป็นต้น อีกทั้งแกงไตปลายังมีโปรตีนสูงจากปลาย่างและให้พลังงานต่ำ เป็นผลดีต่อสุขภาพ
           นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้บริโภคไม่คุ้นเคยกับอาหารไทยที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ในด้านรสชาติอันเผ็ดร้อนถึงใจ มีกลิ่นไตปลาและสมุนไพร อาจเป็นสาเหตุทำให้ไม่เป็นที่ถูกใจของผู้ได้ลิ้มลองรสชาติแกงไตปลา
           อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีร้านอาหารที่ได้ปรับรสชาติของแกงไตปลาให้มีความนุ่มนวลมากขึ้น มีความเผ็ดน้อยลง เหมาะกับผู้บริโภคที่ไม่สามารถรับประทานอาหารรสจัดมากได้ แต่ยังคงคุณประโยชน์ของแกงไตปลา ซึ่งในท้องตลาดนอกจากจะมีแกงไตปลาสดจำหน่ายแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถหาซื้อแกงไตปลาสำเร็จรูป เช่น แกงไตปลาบรรจุกระป๋อง แกงไตปลาคั่วแห้งบรรจุกระป๋องหรือบรรจุถุง ที่สะดวกต่อการบริโภค เก็บรักษาได้นาน โดยในการซื้อผลิตภัณฑ์แกงไตปลาสำเร็จรูป ควรสังเกตผลิตภัณฑ์ที่ได้เครื่องหมาย อย. (มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) หรือ มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 85/2567) ด่วน รมว. ศุภมาส สั่งการหน่วยปฏิบัติการ “DSS วศ.อว” พร้อมลงพื้นที่ กรณีแคดเมี่ยมสมุทรสาคร เร่งเฝ้าระวังควบคุม ป้องกันผลกระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม

 F471 2 F471 4

F471 3 F471 1

 

          เช้าวันนี้ 5 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจากกรณีกากแคดเมียม จึงสั่งการด่วนให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (DSS Team) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. นำโดยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดี วศ. พร้อมด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์ พร้อมลงพื้นที่และให้การสนับสนุนภารกิจ กรณีกากแคดเมี่ยมที่สมุทรสาคร เพื่อร่วมเฝ้าระวังควบคุม ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม
           นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ขณะนี้ กรม วศ. พร้อมส่งหน่วยปฏิบัติการ DSS Team วศ.อว. เข้าให้การสนับสนุนภารกิจและประสานการตรวจทางห้องปฏิบัติการกรณีดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้ให้ข้อมูลและข้อแนะนำด้านวิทยาศาสตร์ในการควบคุมสถานการณ์ เฝ้าระวัง ป้องกันผลกระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังนี้
          1. แคดเมียม (Cd) เป็นโลหะหนัก พบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ในการทำเหมืองสังกะสี จะได้แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย สามารถพบแร่แคดเมียมได้ในอาหาร น้ำ เหมือง และส่วนน้ำทิ้ง น้ำเสีย และยังสามารถพบกากแร่แคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้านหรืออาคาร ในประเทศไทยพบการปนเปื้อนสารแคดเมียมมากในตะกอนดินที่ห้วยแม่ตาว ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก
         2. อันตรายจากแคดเมียมเกิดขึ้นได้หากแคดเมียมถูกความร้อนที่ 321 องศาเซลเซียส จะเกิดเป็นควันกระจายสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อร่างกายสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ปอด ไต และตับจะถูกทำลาย ถ้าหากหายใจควันเข้าไปในปอดจะมีอาการเจ็บคอ หายใจสั่น มีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด โลหิตจาง การหายใจจะลำบากมากขึ้นจนถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ ยังเกิดจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ดังกรณีในอดีตชาวญี่ปุ่นบริโภคอาหารทะเล ข้าว อาหารที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมที่ถูกปล่อยจากโรงงานสารเคมีผ่านระบบระบายน้ำเสีย ทำให้มีผู้ได้รับสารปนเปื้อนจำนวนมากเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง ปวดบริเวณแขน ขา สะโพก ฟัน อาการเหล่านี้สะสมนานถึง 20-30 ปี จนทำให้ร่างกายเดินไม่ไหว เกิดการกดทับของกระดูกสันหลัง เมื่อได้รับแคดเมียมสะสมมาก ๆ จะสังเกตเห็นวงสีเหลืองที่โคนของซี่ฟัน ซึ่งจะขยายขึ้นไปเรื่อย ๆ จนอาจเต็มซี่ ถ้าขนาดของวงยิ่งกว้างและสียิ่งเข้มก็แสดงว่ามีแคดเมียมสะสมมากจนเรียกชื่อโรคนี้ว่า "อิไต-อิไต (Itai-Itai disease)" ในภาษาญี่ปุ่น อิไต-อิไต แปลว่าเจ็บโอ๊ย ๆ ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์พบว่า แคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก นอกจากนั้นยังทำอันตรายต่อไตเกิดโรคไตอย่างรุนแรง ทำให้สูญเสียประสาทการดมกลิ่นและทำให้ เลือดจาง ถ้าได้รับปริมาณมากระยะสั้น ๆ จะมีอาการจับไข้ หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดศีรษะ อาเจียน อาการนี้จะเป็นได้นานถึง 20 ชั่วโมงแล้วตามด้วยอาการเจ็บหน้า อก ไอรุนแรง น้ำลายฟูม ดังนั้น เมื่อใดมีไอของแคดเมียม เช่น จากการเชื่อมเหล็กชุบ ควรใช้หน้ากากป้องกันไอและฝุ่นของแคดเมียม หรือสารประกอบแคดเมียม ในขณะทำงาน อย่างไรก็ตาม อาการส่วนใหญ่มักเป็นแบบไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น หรือนอนไม่หลับ บางครั้งมีความรู้สึกว่าสมองล้า ลืมง่าย หรือความคิดสร้างสรรค์เรื่องงานลดลง แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เบาหวาน จะทำให้อาการแย่ลงหรือว่าการรักษาไม่สำเร็จผลอย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งผู้ที่ได้รับสารพิษโลหะหนักอาจจะพบว่ามีอาการภูมิแพ้แบบไม่ทราบสาเหตุ หรือมักจะมีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรมีอาการเฝ้าระวังสุขภาพในผู้มีความเสี่ยงจากกรณีดังกล่าว
          3. หากพบผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ต้องมีระบบส่งต่อผู้ป่วยสู่การรักษา ซึ่งมีวิธีรักษา คือการกำจัดหรือล้างสารพิษโลหะหนักในร่างกาย ทำได้โดยการให้สารทางหลอดเลือดเพื่อที่จะไปจับกับโลหะหนักออกจากร่างกาย ซึ่งวิธีนี้มีการใช้ยาวนานมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันก็ยังมีที่ใช้อย่างแพร่หลายทางพิษวิทยา แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
          4. ควรมีการเฝ้าระวังและควบคุมปัญหาในสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนแคดเมียมในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่เพาะปลูก เพราะแคดเมียมไม่สามารถถูกย่อยสลายได้ และสามารถถูกสะสมผ่านทางห่วงโซ่อาหารได้ ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการบำบัดพื้นที่ปนเปื้อน ซึ่งวิธีการหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ วิธีการทางชีวภาพ โดยเฉพาะการใช้พืชในการบำบัดดินปนเปื้อน แต่การใช้พืชในการบำบัดยังมีประสิทธิภาพที่จำกัด เช่น การนำจุลินทรีย์ต้านทานแคดเมียมบางสายพันธุ์ ที่มีความสามารถในการช่วยส่งเสริมการเติบโตของพืช หรือช่วยในการละลายหรือเคลื่อนที่แคดเมียมให้หลุดออกมาจากดิน ซึ่งเพิ่มโอกาสให้พืชสามารถดูดดึงแคดเมียมขึ้นไปสะสมในพืชได้มากขึ้นรวมทั้งการที่พืชเติบโตดีขึ้นจะมีมวลชีวภาพที่มากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะที่ดีในการนำพืชไปใช้ในการบำบัดโลหะหนักในดิน กระบวนการนี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการบำบัดโลหะหนักในดินด้วยพืชโดยการเติมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ
ท้ายสุด นายแพทย์รุ่งเรือง อธิบดี วศ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ จังหวัดสมุทรสาครและทุกหน่วยงานได้เข้าคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ถูกต้องตามหลักวิชาการ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

  1. (ข่าวที่ 84/2567) วศ.อว. ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. กับ 3 หน่วยงานเครือข่ายภาคใต้ ในการอนุรักษ์พืชท้องถิ่นและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  2. (ข่าวที่ 83/2567) วศ.อว. พัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำฯ หนุนสร้างความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  3. (ข่าวที่ 82/2567) วศ.อว. ร่วมประชุมทางวิชาการระดับชาติ เรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่ความยั่งยืน (Library Development Towards Sustainability) และประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
  4. (ข่าวที่ 81/2567) วศ.อว. ปลื้ม 2 ข้าราชการพลเรือนดีเด่น รับมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ จาก รมว.อว. “ศุภมาส“ เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน
  5. (ข่าวที่ 80/2567) รมว. “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. นำวิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนงานเซรามิก “กระเบื้องศิลปะโบราณ“ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท
  6. (ข่าวที่ 79/2567) รมว.ศุภมาส ชื่นชม นักวิทย์ฯ วศ.อว. สร้างชื่อรับรางวัลระดับนานาชาติ “ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมฆ่าเชื้อในรถพยาบาลฉุกเฉิน” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าว
  7. (ข่าวที่ 78/2567) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2567 (NSTDA Annual Conference: NAC2024) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สานพลัง สร้างงานวิจัย พลิกโฉมเ
  8. (ข่าวที่ 77/2567) นักวิทย์ฯ กรมวิทย์บริการ อว. สร้างชื่อรับรางวัลระดับนานาชาติ นวัตกรรมฆ่าเชื้อในรถพยาบาลฉุกเฉิน
  9. (ข่าวที่ 76/2567) วศ.อว. เร่งพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการด้านผลิตภัณฑ์ยางไทยสู่มาตรฐานสากล
  10. (ข่าวที่ 75/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” ชื่นชมความสำเร็จ วศ.อว. วิจัยพัฒนานวัตกรรมเซรามิก “แร่หินผุ” เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนกว่า 1 พันล้านบาท ทดแทนแร่ดินขาวที่กำลังจะหมดไป