ข่าวประชาสัมพันธ์

(ข่าวที่ 94/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. ยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ล่าสุดเพิ่มศักยภาพ ได้กว่า 100 ราย เพิ่มรายได้กว่า 1 พันล้านบาท

F483 3 F483 2

F483 4 F483 1

 

            วันที่ 19 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมก้าวทันอนาคต โดยการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการSMEs ให้มีความสามารถในการผลิตนวัตกรรมอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพ ได้กว่า 100 ราย เพิ่มรายได้ สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 1 พันล้านบาท
           นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า จากการที่ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ความสามารถในการซื้อขายของผู้บริโภคลดลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหาร SMEs ต้องปิดกิจการไปหลายรายและยังอยู่ในสภาวะฟื้นตัว
           วศ.อว. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอาหาร ซึ่งมีกระบวนการตั้งโจทย์ และปัญหาที่พบร่วมกับผู้ประกอบการอาหาร เพื่อให้มีการแก้ปัญหาและพัฒนาสินค้าได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriated technology) โดยดำเนินการวิจัยในห้องปฏิบัติการแปรรูปอาหาร ห้องทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ห้องทดสอบรสชาติอาหารไทยของ วศ.อว. เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบมีการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสอาหารให้มีข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคด้านความชอบและการยอมรับ
           ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวฯ ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลดลง สามารถเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง วศ.อว. ได้นำองค์ความรู้ด้านการผลิตฯ ที่มีคุณภาพความปลอดภัยตามข้อกำหนดของ อย. ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการอาหาร SMEs มากกว่า 100 ราย โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและแก้ปัญหากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพความปลอดภัย เก็บรักษาได้นาน เช่น ผลิตภัณฑ์สาคูกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เม็ดไข่มุกจากสาคู ผลิตภัณฑ์บะหมี่จิ้งหรีด ผลิตภัณฑ์ครีมเทียมเจ สูตรต้นแบบแป้งกล้วยทอดกรอบผลิตภัณฑ์ถั่วดาวอินคาแผ่นกรอบ ผลิตภัณฑ์ไซรัปกัญชง พัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำพริกอ่องกึ่งสำเร็จรูปด้วยเทคโนโลยี Freeze drying พัฒนากระบวนการเก็บรักษาน้ำจิ้มข้าวมันไก่ เป็นต้น
           นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า วศ.อว. มุ่งมั่นในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการอาหารได้อย่างแท้จริง และในอนาคต วศ.อว. จะขยายผลการดำเนินงานสู่ผู้ประกอบการอาหารทั่วประเทศ สนับสนุนการสร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคตให้สอดรับกับบริบทการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนอย่างมั่นคง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 93/2567) “หมอรุ่งเรือง” อธิบดี วศ. แนะวิธีรับมือสารแอมโมเนีย ผู้ได้รับผลกระทบต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อาจอันตรายเสียชีวิต พบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์

F482 3 F482 1 F482 2

 

          จากกรณีเกิดการรั่วไหลของ “สารแอมโมเนีย” อย่างรุนแรง มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 160 คน เหตุเกิดภายในโรงงานน้ำแข็งราชา เลขที่ 54 ถนนชัยพรวิถี (ซอยหนองปรือ) หมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งในที่เกิดเหตุพบว่ามีกลุ่มควันสีขาวลอยพวยพุ่งอยู่ในชั้นอากาศ สูงจากพื้นดินประมาณ 3-4 เมตรในปริมาณมาก ซึ่งมีกลิ่นคล้ายสารแอมโมเนียใช้ในการผลิตน้ำแข็ง เมื่อสูดเข้าไปจะมีอาการแสบคอ หายใจไม่ออก และแสบตาอย่างมาก
          นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ข้อมูลว่า “แอมโมเนีย” ชื่อทางเคมี คือ แอมโมเนีย แอนไฮดรัส (Ammonia Anhydrous) สูตรเคมี คือ NH₃ มวลโมเลกุล 17.03 จุดเดือด -33.35 องศาเซลเซียส จุดหลอมเหลว -77.7 องศาเซลเซียส มีสถานะทั้งที่เป็นของเหลวและก๊าซ ตามที่เป็นข่าวนั้นคือ แอมโมเนียในสถานะก๊าซเป็นก๊าซที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง สามารถละลายน้ำได้ดี จัดเป็นสารเคมีอันตรายประเภท ก๊าซพิษและกัดกร่อน (Gases-Corrosive) เนื่องจากมีจุดเดือดต่ำ ราคาถูก ไม่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศเมื่อเทียบ กับสารทำความเย็นคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ชนิดอื่นๆ และมีประสิทธิภาพสูงในการทำความเย็น จึงนิยมนำมาเป็นสารนำความเย็นในระบบทำความเย็นโดยเฉพาะโรงงานทำน้ำแข็งและอุตสาหกรรมห้องเย็น เมื่อเกิดการรั่วไหลก๊าซแอมโมเนียจะรวมตัวกับความชื้นในอากาศทําให้เกิดเป็นหมอกควันสีขาวของแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์
           ก๊าซแอมโมเนียมีความเป็นพิษและอันตรายต่อมนุษย์ในลักษณะความเป็นพิษเฉียบพลัน (Acute toxic) ถ้าได้รับปริมาณน้อยๆ อยู่เป็นประจำจะมีอาการพิษเรื้อรัง ถ้าได้รับปริมาณสูง ทำให้เสียชีวิตได้ในทันที โดยมีอันตรายต่อร่างกาย ประกอบด้วย
          1. สัมผัสทางการหายใจ: การหายใจเข้าในปริมาณมากกว่า 25 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ทำให้ระคายเคืองจมูกและคอ ถ้าได้รับในปริมาณมากจะหายใจติดขัด เจ็บหน้าอก หลอดลมบีบเกร็ง มีเสมหะและปอดบวม มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาเจียน ความดันโลหิตเพิ่ม
          2. สัมผัสทางผิวหนัง: ถ้าได้รับปริมาณมากในระยะสั้น ๆ ทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนัง เป็นผื่นแดง บวม เป็นแผล ถ้าได้รับปริมาณมากๆ และมีความเข้มข้นสูงทำให้ผิวหนังไหม้แสบ บวม เป็นน้ำเหลืองจากความเย็น
          3. สัมผัสถูกตา: ทำให้เจ็บตา ตาบวม น้ำตาไหล คันที่ดวงตา ถ้าได้รับซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวทำให้เกิดอาการระคายเคืองเรื้อรังต่อตาอย่างถาวร
          4. การกินเข้าไป: ทำให้เกิดอาการแสบไหม้บริเวณปาก คอ หลอดอาหารและกระเพาะอาหาร
          5. ทำลาย ไต ตับ ปอด ในกรณีที่ได้รับสารแอมโมเนียจำนวนมาก
           ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติจากก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลและมีอาการตาอักเสบ น้ำตาไหล หายใจหอบถี่ แสบคอ จมูก หรือผิวหนังอักเสบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพบแพทย์โดยทันที นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่วางไว้ในบ้านและไม่มีการป้องกันช่วงเกิดเหตุ เพราะอาจได้รับก๊าซแอมโมเนียเข้าสู่ร่างกายได้ ในด้านป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหมั่นสังเกตความผิดปกติ ถ้าได้กลิ่นก๊าซแอมโมเนียให้รีบอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังจุดที่ปลอดภัยไม่ได้รับกลิ่นก๊าซดังกล่าว ซึ่งถ้าไม่สามารถอพยพได้ให้อยู่ในบ้านรีบปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด พร้อมสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมีตลอดเวลาเพื่อไม่ให้รับสัมผัสสูดดมก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

 

(ข่าวที่ 92/2567) รมว. “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. ผลักดันผลิตภัณฑ์ขึ้นบัญชีนวัตกรรม ล่าสุด “แผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพ ผลิตได้เองในประเทศ ผู้ป่วยพึงพอใจ เริ่มใช้งานใน รพ. ทั่วประเทศ”

F480 4 F480 1

F481 F481 2

 

          วันที่ 18 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัญหาของงานวิจัยไทยในปัจจุบัน แม้มีจำนวนมากแต่ไม่สามารถผลักดันการใช้งานจริงเท่าที่ควร เนื่องจากผลิตภัณฑ์นวัตกรรมส่วนใหญ่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานหรือเกณฑ์การรับรองคุณภาพมาอ้างอิง ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การใช้งานได้จริง และไม่สามารถถูกนำไปผลิตขายได้ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น ตนได้เร่งให้มีการจัดทำมาตรฐานเพื่อที่จะรับรองและผลักดันให้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสามารถขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยให้ได้ โดยมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ซึ่งเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานระดับชาติ (Standards Developing Organization หรือ SDO)เร่งประสานความร่วมมือกับนักวิจัยไทยในการจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) เพื่อสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นผลงานนักวิจัยที่จะนำไปสู่การใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
          นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของท่านรัฐมนตรี อว. ที่เร่งให้มีการจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัย วศ.อว.ได้จัดทำโครงการการพัฒนาเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อผลักดันเข้าสู่เชิงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมให้ทันต่อความต้องการของผู้พัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการเพื่อผลักดันเข้าสู่เชิงพาณิชย์ และเสนอแนวทางการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ โดยใช้กลไกการจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specification) สำหรับใช้ในการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
           ล่าสุด วศ.อว. สามารถผลักดันงานวิจัย “แผ่นยางสำหรับผลิตแผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพเฉพาะบุคคล” โดยที่ วศ. ได้ร่วมมือกับนักวิจัยในประเทศ ได้พัฒนาข้อกำหนดคุณลักษณะเพื่อรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์และผลักดันให้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย สำนักงบประมาณ และได้นำแผ่นรองฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพไปใช้งานจริงในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
           สำหรับงานวิจัย “แผ่นยางรองฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ” ดังกล่าว เป็นงานวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่างนักวิจัยภาคเอกชนกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ออกแบบแผ่นรองฝ่าเท้าสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเท้า ซึ่งได้รับการออกแบบเป็นพิเศษทั้งในส่วนของวัสดุที่ใช้ทำแผ่นรองฝ่าเท้าและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการขึ้นรูปอย่างแม่นยำ มีวัตถุประสงค์ช่วยกระจายน้ำหนักให้ทั่วฝ่าเท้า และสามารถลดปัญหาเกี่ยวกับบาดแผล อาการเท้าผิดรูป และผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเท้า เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคที่เท้าได้ง่าย ผู้ที่มีลักษณะเท้าแบนที่เกิดอาการข้อเท้าและนิ้วเท้าผิดรูปได้ง่าย ผู้ป่วยที่มีปัญหารองช้ำ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการแผ่นรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับรูปเท้าและสวมใส่สบาย
           โดยทีมวิจัยได้คิดค้นวัสดุผสมเอทิลีนไวนิลอะซิเตท (Ethylene-vinyl acetate: EVA) กับพอลิเมอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติกระจายแรงกดและลดแรงกระแทกจากการเดินหรือวิ่ง มีความยืดหยุ่น คืนตัวได้ดีเมื่อโค้งงอ น้ำหนักเบา กันน้ำ และนุ่มสบายเมื่อสวมใส่ วัสดุผสมดังกล่าวใช้ร่วมกับการออกแบบพื้นรองเท้าเฉพาะรายบุคคลด้วยโปรแกรมออกแบบสามมิติ และเครื่องกัดขึ้นรูป CNC (Computer numerical control) ทำให้การขึ้นรูปมีความละเอียดและแม่นยำสูง แม้ว่าได้จดอนุสิทธิบัตรของวัสดุผสม EVA (เลขที่ 2003001509) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 อย่างไรก็ตามนวัตกรรมวัสดุผสมดังกล่าว ยังไม่สามารถขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องไม่มีมาตรฐานหรือข้อกำหนดคุณลักษณะผลิตภัณฑ์ที่จะรับรองผลิตภัณฑ์ชนิดนี้
            นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีดังกล่าว วศ.อว. จึงได้เข้าช่วยเหลือทำงานร่วมกับนักวิจัยโดยได้เร่งจัดทำเป็นข้อกำหนดคุณลักษณะของแผ่นยางรองฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพขึ้น และได้ออกเป็นประกาศกรมวิทยาศาสตร์บริการ ข้อกำหนดคุณลักษณะแผ่นรองฝ่าเท้าสุขภาพเฉพาะบุคคล (DSS 6) เพื่อรับรองและผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดังกล่าว ทำให้สามารถขึ้นทะเบียนนวัตกรรมได้สำเร็จ และกระจายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ที่ผลิตได้เองในประเทศโดยคนไทย มีราคาย่อมเยา เป็นที่พึงพอใจของผู้ป่วย
            นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเน้นย้ำว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. มุ่งมั่นผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้วยการจัดทำมาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน ต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 91/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อมการวัดค่า Chemical Oxygen Demand (COD)

F477 4 F477 2

F477 3 F477 1

 

           กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ได้จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (Proficiency Testing: PT) โดยดำเนินการจัดส่งตัวอย่าง ให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการภายในประเทศ จำนวน 308 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัดในรายการ Chemical Oxygen Demand (COD) in water และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นระบบที่ลดปริมาณของเสียที่อยู่ในสภาพของเหลวให้น้อยลงหรืออยู่ในสภาพที่ไม่ก่อปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้น น้ำเสียเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการบำบัด และต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายกำหนดก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตัวชี้วัดคุณภาพน้ำและน้ำทิ้งมีด้วยกันหลายพารามิเตอร์ Chemical Oxygen Demand (COD) เป็นหนึ่งในพารามิเตอร์ที่ต้องควบคุม โดย COD เป็นการวัดปริมาณออกซิเจนที่ใช้สำหรับทำปฎิกิริยาเคมีกับสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำ ให้กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ในสภาวะที่เป็นกรดเข้มข้นและมีอุณหภูมิสูง ซึ่งหากระดับ COD สูงจะบ่งบอกว่า น้ำมีสารประกอบอินทรีย์จำนวนมากซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ COD ยังใช้เป็นมาตรฐานทางอ้อม เพื่อบ่งบอกปริมาณการมีอยู่ของมลพิษ เช่น สารเคมีเป็นพิษและโลหะหนัก ด้วยเหตุนี้ COD จึงเป็นพารามิเตอร์สำหรับการรับรองความปลอดภัยของน้ำ
            กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้สนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพน้ำ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อม รายการ Chemical Oxygen Demand (COD) in water เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำ เพื่อให้ได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการ และติดตามความต่อเนื่องของความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระบุปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป เช่น ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ และความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการซึ่งเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

(ข่าวที่ 90/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรและกิจกรรมฟังบรรยายธรรมะ ส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี

F476 1 F476 3

F476 4 F476 2

 

          วันที่ 9 เมษายน 2567 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานเลขานุการกรม ร่วมกับ กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม จัดโครงการฝึกอบรมธรรมะ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ของ วศ. โดยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดี วศ. พร้อมด้วย นางสาวภัทริยา ไชยมณี รองอธิบดี ในฐานะหัวหน้ากลุ่มคุ้มครองจริยธรรม คณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ วศ. ได้เข้าร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ พระราชวิสุทธิประชานาถ หรือหลวงพ่ออลงกต ติกฺขปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ อ.เมือง จ.ลพบุรี ณ บริเวณหน้าอาคารตั้ว ลพานุกรม วศ. ซอยโยธี ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เพื่อสร้างการเรียนรู้และการปฎิบัติตนให้เป็นผู้รู้จักการทำทาน แบ่งปัน และการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นการลงมือปฏิบัติ เพื่อทำให้บุคลากรสังกัด วศ. เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี
          หลังจากนั้น นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดี วศ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ วศ. ได้เข้าร่วมกิจกรรมรับฟังการบรรยายธรรมะ โดยพระราชวิสุทธิประชานาถ หรือหลวงพ่ออลงกต ติกฺขปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ อ.เมือง จ.ลพบุรี เพื่อเพิ่มพูนปัญญา พร้อมแนวคิดและคติธรรม ให้บุคลากร วศ. สามารถนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติตนและการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและป้องกันการประพฤติมิชอบมิให้เกิดขึ้นภายในหน่วยงาน โดยการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องสำหรับนำมาประยุกต์ใช้และยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้มีความโปร่งใส มีคุณธรรม ปราศจากการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมองค์กรคุณธรรมให้เกิดขึ้นภายในกรมวิทยาศาสตร์บริการ

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor

  1. (ข่าวที่ 89/2567) วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เรื่อง การตรวจวิเคราะห์หาปริมาณของแข็งละลายน้ำ (Total Dissolved Solids : TDS)
  2. (ข่าวที่ 88/2567) รัฐมนตรี “ศุภมาส” ห่วงใยประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ แนะให้ใช้ “ดินสอพอง” ที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัย หลัง วศ.อว. ตรวจพบกว่าร้อยละ 42.6 ปลอม เสี่ยงอันตราย
  3. (ข่าวที่ 87/2567) กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดกิจกรรม “รดน้ำชุ่มฉ่ำ ฟังธรรมชุ่มใจ วศ.อนุรักษ์ประเพณีไทย สานสายใยผู้อาวุโส ประจำปี 2567” นิมนต์หลวงพ่ออลงกต รับบิณฑบาต และเทศนาธรรมเพื่อความเป็นสิริมงคแก่ชาว วศ.อว. เนื่องในเทศกาลสงกรานต์
  4. (ข่าวที่ 86/2567) “หมอรุ่งเรือง” ยืนยันข้อมูลวิทยาศาสตร์ วศ.อว “แกงไตปลา” อาหาร อัตลักษณ์ปักษ์ใต้ของไทย มีประโยชน์สูงต่อสุขภาพ
  5. (ข่าวที่ 85/2567) ด่วน รมว. ศุภมาส สั่งการหน่วยปฏิบัติการ “DSS วศ.อว” พร้อมลงพื้นที่ กรณีแคดเมี่ยมสมุทรสาคร เร่งเฝ้าระวังควบคุม ป้องกันผลกระทบประชาชนและสิ่งแวดล้อม
  6. (ข่าวที่ 84/2567) วศ.อว. ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. กับ 3 หน่วยงานเครือข่ายภาคใต้ ในการอนุรักษ์พืชท้องถิ่นและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  7. (ข่าวที่ 83/2567) วศ.อว. พัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำฯ หนุนสร้างความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  8. (ข่าวที่ 82/2567) วศ.อว. ร่วมประชุมทางวิชาการระดับชาติ เรื่อง การพัฒนาห้องสมุดสู่ความยั่งยืน (Library Development Towards Sustainability) และประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย
  9. (ข่าวที่ 81/2567) วศ.อว. ปลื้ม 2 ข้าราชการพลเรือนดีเด่น รับมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ จาก รมว.อว. “ศุภมาส“ เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน
  10. (ข่าวที่ 80/2567) รมว. “ศุภมาส” ให้ วศ.อว. นำวิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนงานเซรามิก “กระเบื้องศิลปะโบราณ“ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท