(ข่าวที่55/2560) วศ./ก.วิทย์ฯ ลงพื้นที่ จัดโครงการส่งเสริม OTOP และ SME จ.นครสวรรค์

วศ./ก.วิทย์ฯ ลงพื้นที่ จัดโครงการส่งเสริม OTOP และ SME จ.นครสวรรค์

 

        กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย นางอุมาพร สุขม่วง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานเปิดงาน และให้เกียรติกล่าวต้อนรับ นายบรรลือ สง่าจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และบรรยายพิเศษเรื่อง“การเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs” ในงานสัมมนา“โครงการการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs เพื่อรายได้ที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน SMEs ในการนำเทคโนโลยีลงพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้รับมาตรฐาน อย. หรือ มผช. และยังช่วยให้เข้าถึงการให้บริการของ วศ. ซึ่งมีผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมงาน ทั้งในส่วนของภาคกการผลิต ผู้ประกอบการ OTOP วิสาหกิจชุมชน SME จากจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี  ลพบุรี สระบุรี และอ่างทองรวมทั้งผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง จำนวนประมาณ 340 คน วันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์  รีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

        นางอุมาพร สุขม่วง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า การยกระดับโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นงานที่สำคัญงานหนึ่งของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นงานสำคัญของรัฐบาลในแผนบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการได้นำผลงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์ นวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ OTOP เพื่อพัฒนาสินค้า OTOP ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานระดับต่างๆ ทั้งในประเทศ เช่น มผช. อย. การคัดสรรดาว และระดับสากลในการส่งขายต่างประเทศ

       ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้นำผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่เป็นการพัฒนาและส่งเสริมโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการมาจัดนิทรรศการ Road Show ครั้งที่ 4/2560 จากกลุ่มประเภท OTOP 4 ประเภท ได้แก่ (1) อาหารและเครื่องดื่ม (2) ของใช้ ของประดับตกแต่ง และของที่ระลึก (3) สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร และ (4) ผ้าและเครื่องแต่งกาย นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ที่จะนำไปจัดแสดงนิทรรศการภายในงานได้แก่ 1.การส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้โดยการฝึกอบรมแบบ M-learning  และ 2.การทำตลาดออนไลน์  (E-commerce) อีกทั้งกิจกรรมสาธิตวิธีการทำสอบตัวอย่างสำคัญที่จะช่วยยกระดับสินค้า OTOP ได้แก่ 1.การทดสอบความสะอาดของมือกับการสัมผัสภาชนะ โดยใช้วิธี Swab Test 2.การทดสอบคุณภาพน้ำมันทอดซ้ำ 3.การทำเส้นใยพืชให้มีความอ่อนนุ่ม 4.การตกแต่งสีผลิตภัณฑ์เซรามิก 5.การวัดค่าความเป็นกรด-เบส (ค่า pH) ของผลิตภัณฑ์โลชั่นน้ำมันมะพร้าว 6.การวัดความคงสภาพเบื้องต้น ของผลิตภัณฑ์แชมพู 7.การวัดค่า pH ของผลิตภัณฑ์ผ้า และ 8.การทดสอบสีตก

          นอกจากนี้ภายในงานสัมมนาฯ ยังได้จัดพิธีมอบโล่แก่ผู้ประกอบการดีเด่นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เพื่อเป็นกำลังใจ เป็นตัวอย่างการรักษาคุณภาพสินค้า และส่งเสริมการให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้จัดกิจกรรมการเสวนาเรื่อง “การเพิ่มมูลค่าสินค้า OTOP อย่างยั่งยืน” เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจและรับทราบถึงขั้นตอนการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ถูกต้อง สามารถเข้าถึงการให้บริการของกรมวิทยาศาสตร์บริการ อีกทั้งยังได้จัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มของใช้ของประดับตกแต่งและของที่ระลึก กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย และกลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร