(ข่าวที่1/2560) วศ./ก.วิทย์ฯ แนะ ใช้ภาชนะอาหารให้ปลอดภัยในเตาไมโครเวฟ

 

วศ./ก.วิทย์ฯ แนะ ใช้ภาชนะอาหารให้ปลอดภัยในเตาไมโครเวฟ

 

          “เตาไมโครเวฟ” เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นและอำนวยความสะดวกสำหรับวิถีชีวิตที่รีบเร่งของเราในยุคปัจจุบัน ทำให้สามารถปรุงและอุ่นอาหารทั่วไป หรืออาหารสำเร็จรูปที่บรรจุในซองหรือกล่องพลาสติกแช่แข็งได้อย่างรวดเร็ว อาหารที่ได้จะสุกและร้อนพร้อมรับประทานเหมือนปรุงเสร็จใหม่ภายในเวลาไม่กี่นาที  ดังนั้นเตาไมโครเวฟจึงได้รับความนิยมจัดหาไว้ใช้ตามครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อก็มีไว้สำหรับสร้างความประทับใจผู้ใช้บริการเช่นกัน

          เตาไมโครเวฟทำงานโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดเดียวกับแสงสว่าง แต่ไม่ใช่รังสีอันตรายเหมือนกัมมันตรังสีหรือรังสีเอ็กซ์ เตาไมโครเวฟทำให้อาหารร้อนได้โดยอาศัยการสะท้อนกลับไป-กลับมาของคลื่นไมโครเวฟจากแหล่งกำเนิดภายในเตา  และเกิดการถ่ายทอดพลังงานให้กับโมเลกุลของน้ำในอาหาร  เมื่อโมเลกุลของน้ำได้รับพลังงานแล้วจะเกิดการสั่นและเสียดสีกับโมเลกุลข้างเคียงเป็นสาเหตุให้อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้อาหารร้อนและสุกได้

ภาชนะที่ใช้กับเตาไมโครเวฟสามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ แก้ว เซรามิก พลาสติก และกระดาษ    การปรุงหรืออุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟต้องใช้ภาชนะบรรจุที่มีความปลอดภัยทนกับคลื่นไมโครเวฟได้  โดยทั่วไปจะมีสัญลักษณ์บนภาชนะบ่งชี้ว่าสามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย  ไม่แนะนำให้ใช้พลาสติกเมลามีนในเตาไมโครเวฟเนื่องจากจะมีสารฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งเป็นก่อมะเร็งลายออกมาสู่อาหารได้ ภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้กับเตาไมโครเวฟได้ควรเป็นภาชนะที่ไม่ดูดกลืนและสะท้อนคลื่นไมโครเวฟเพราะจะทำให้อาหารร้อนช้าต้องใช้เวลาในการอุ่นอาหารเพิ่มขึ้นซึ่งสิ้นเปลืองพลังงาน   การทดสอบว่าภาชนะนั้นสามารถใช้กับเตาไมโครเวฟได้หรือไม่สามารถเช็คด้วยวิธีง่ายๆ คือ ให้เติมน้ำในแก้วที่ใช้กับไมโครเวฟได้จำนวนประมาณ 250 มิลลิลิตร หรือน้ำ 1 แก้ว นำไปข้างเคียงกันหรือวางบนภาชนะเปล่าที่ต้องการทดสอบแล้วนำเข้าไปวางในเตาไมโครเวฟ หลังจากนั้นให้ความร้อนระดับสูงสุดของเตาเป็นเวลาประมาณ  1 นาที  จากนั้นตรวจดูภาชนะและน้ำ หากภาชนะเปล่าร้อนใกล้เคียงกับน้ำในแก้ว หรือภาชนะมีลักษณะผิดปกติจากเดิม หรือมีกลิ่นแสดงว่าภาชนะนั้นไม่เหมาะที่จะนำมาใช้งานในเตาไมโครเวฟ

สำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ต้องทดสอบความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารประเภทพลาสติก เซรามิก แก้ว โลหะ และสารเคลือบวัสดุสัมผัสอาหารประเภทต่างๆ ตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า  หรือสอบถามข้อมูลด้านวิชาการ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร ศูนย์ทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารของอาเซียน กรมวิทยาศาสตร์บริการ เบอร์โทรศัพท์ 02-201-7000 เว็บไซต์  www.dss.go.th

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------

ธวัช นุสนธรา : ข้อมูล / จิตลดา คณีกุล : ข่าว

กรมวิทยาศาสตร์บริการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2201 7000  โทรสาร 0 2201 7470  เว็บไซต์  www.dss.go.th

Facebook : DSS thaiscience     e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.