(ข่าวที่21/2559) กรมวิทยาศาสตร์บริการ ลงพื้นที่สนับสนุนแก้ปัญหาพัฒนาการผลิต ยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน OTOP ไทย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ลงพื้นที่สนับสนุนแก้ปัญหาพัฒนาการผลิต

ยกระดับคุณภาพ มาตรฐาน OTOP ไทย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ

  

  

         1 มีนาคม  2559 - ดร. สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สร้างคุณภาพสินค้า OTOP เพื่อรายได้ที่ยั่งยืน”          กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ โดยมี ดร. ณัชนพงศ์  วชิรวงศ์บุรี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวรายงานการจัดงาน และนายสำเริง ไชยเสน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ  โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่         ผู้ประกอบการ OTOP จากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 300 คน ณ โรงแรม ดิเอ็ม เพรส จังหวัดเชียงใหม่

             ดร. สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการมุ่งเน้นขับเคลื่อนโดยนำผลงานวิจัยของกรมมาถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP ต่อเนื่อง มีแนวทางการดำเนินงาน โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ  การแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพการผลิต สินค้า OTOP ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม  กลุ่มของใช้ของตกแต่งของที่ระลึก กลุ่มสมุนไพรไม่ใช่อาหาร  กลุ่มผ้าและสิ่งทอ  เน้นการถ่ายทอด เทคโนโลยี เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คาดหวังให้เกิดการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการของกรมวิทยาศาสตร์บริการจะได้รับการติดตามการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนถึงการส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการส่งสินค้าเพื่อขอการรับรองให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐานรองรับ

            สินค้า OTOP ในแต่ละภาคจะมีความหลากหลาย มีเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่นแตกต่างกันไป  ในการลงพื้นที่เพื่อนำเทคโนโลยีลงไปสนับสนุนการแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐาน  กรมวิทยาศาสตร์บริการให้ความสำคัญร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ตรงตามความต้องการและสอดคล้องตามยุทธศาสตร์เป้าหมายของจังหวัด  โดยภาคเหนือ สินค้า OTOP กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนใหญ่เป็นอาหารทอด น้ำพริกและน้ำพริกแกง ซึ่งมีตัวอย่างเทคโนโลยีการทอดที่เป็นเทคนิคการควบคุมการผลิตอย่างเหมาะสมที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ช่วยลดปัญหาผลิตภัณฑ์มีกลิ่น และค่าเพอร์ออกไซด์เกินมาตรฐาน มผช. กำหนด และช่วยให้สีของผลิตภัณฑ์มีความสม่ำเสมอ  นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการใช้ชุดทดสอบความสะอาดบนภาชนะสัมผัสอาหารและมือ เพื่อควบคุมความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต และสุขลักษณะส่วนบุคคล เทคโนโลยีการ ยืดอายุการเก็บรักษา การบรรจุในบรรจุภัณฑ์ป้องกันแสงและออกซิเจน ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น  เทคโนโลยีการทำแห้ง เป็นเทคนิคช่วยแก้ปัญหาการเกิดสีน้ำตาลในผลิตภัณฑ์กล้วยอบระหว่างการเก็บรักษาได้

       กลุ่มสินค้าของใช้ของประดับตกแต่ง เซรามิก  ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เนื้อดินและเคลือบไฟต่ำ อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ สำหรับเตาเผาอุณหภูมิสูง การวัดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตเซรามิกและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น  เทคโนโลยีการป้องกันการเกิดเชื้อราในผลิตภัณฑ์จากกก เป็นต้น  นอกจากนี้ภายในงานสัมมนาฯ ยังได้จัดนิทรรศการแสดงให้เห็นภาพรวมการสนับสนุนการพัฒนาสินค้า OTOP ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ด้วยเพื่อให้เป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการ OTOP จะได้มีความเข้าใจและสามารถเข้าถึงการให้บริการได้ตรงตามความต้องการ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการนำสินค้าร่วมจัดจำหน่ายภายในงานด้วย

 

------------------------------------------------------------------------------------

 

ข่าว : วลัยพร ร่มรื่น 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมวิทยาศาสตร์บริการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เลขที่ 75/7ถนนพระรามที่ 6ราชเทวี กรุงเทพฯ10400 โทร 02 201 7000  โทรสาร 0 2201 7470 

เว็บไซต์ www.dss.go.th

Facebook  : www. Facebook.com /DSSTHAISCIENCE