(ข่าวที่ 107/2566) วศ.อว. จับมือกรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเล ผลักดันสู่ GAP ลดภาระค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

F31 1 F31 3

F31 2 F31 4

 

            วันที่ 31 มีนาคม 2566 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเล กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนางสาวภัทริยา ไชยมณี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ลงนามร่วมกับ นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และมี นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 7 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร กรุงเทพมหานคร
            นางสาวภัทริยา ไชยมณี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า วศ. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจบริการทางวิทยาศาสตร์ ที่กำกับ ดูแล ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และเป็นสถานปฏิบัติการกลางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานความเชื่อมั่นให้กับสินค้าผลิตภัณฑ์ โดยที่ผ่านมา วศ. ได้ให้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเลในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน ตลอดจนพัฒนาวิธีการทดสอบเกลือทะเลให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เกลือทะเลธรรมชาติ มกษ.8402-2562 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรสามารถนำผลการทดสอบไปใช้ในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน แก้ไขปัญหาการผลิตและพัฒนาความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพกระบวนการทำงานในพื้นที่และพัฒนากระบวนการผลิตเกลือทะเลสอดคล้องตามอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานสามารถแข่งขันในตลาดโลกและนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ วศ. ได้จับมืออย่างจริงจังกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อร่วมมือยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เกลือทะเลให้มีมาตรฐานและคุณภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ยั่งยืนต่อไป
           ด้านนายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล ปีการผลิต 2564/65 รวมทั้งสิ้นจำนวน 949 ครัวเรือน 1,627 แปลง เนื้อที่ 48,321.81 ไร่ ปริมาณผลผลิต 666,736 ตัน โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยได้ดำเนินการวางแผนและขับเคลื่อนการส่งเสริมการประกอบอาชีพทำนาเกลือทะเลอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย (พ.ศ. 2564 – 2568) เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเลของไทยมีความเข้าใจและสามารถพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เกลือทะเลของตน เพื่อเข้าสู่การรับรองตามระบบมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ. 8402-2562) ซึ่งการจะได้รับรองมาตรฐานนั้น เกษตรกรจะต้องได้รับการตรวจประเมินแปลงและการทดสอบตัวอย่างเกลือทะเลจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศเบื้องต้นก่อน แต่เนื่องด้วยการทดสอบดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเล ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเลไทยสามารถส่งตัวอย่างเกลือทะเลจากแปลงนาของตนมาขอรับการตรวจวิเคราะห์ได้ฟรี เพื่อลดต้นทุนการทดสอบดังกล่าว พร้อมที่จะยื่นขอรับรองมาตรฐานเกลือทะเลต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเลอย่างยั่งยืน และสามารถต่อยอดไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้
            ทั้งนี้ เกษตรกรผู้สนใจขอรับการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเกลือทะเลตามข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร โดยจะต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร และต้องการได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ. 8402-2562) สอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการจัดเก็บตัวอย่างเกลือทะเลจากแปลงต้นแบบ นำส่งให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งตัวอย่างให้กรมวิทยาศาสตร์บริการต่อไป

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor