(ข่าวที่11/2565)อธิบดี วศ. ร่วมเปิดตัว “สี่เสือกับเครือข่าย ณ สตูล” พร้อมขึ้นเวทีเสวนานำวิทย์พบศิลป์เปิดโลก BCG สู่การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืน

 

A5 6 A5 3

       วันที่ 14 มกราคม 2565 นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประชุมกับผู้แทน อว.ส่วนหน้า และร่วมเปิดตัว “สี่เสือกับเครือข่าย ณ สตูล” ในหัวข้อ “4 เสือนำวิทย์พบศิลป์เปิดโลก BCG สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ‘สตูล’”นำโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานราชการ 4 ของ อว. ได้แก่ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และผู้บริหารหน่วยราชการในพื้นที่ โดยมี นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมคณะให้การต้อนรับ ณ มหาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล

A5 5 A5 4

 


​     ศ.(พิเศษ) ดร.เอนกฯ กล่าวว่า ต้นปีที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้ประกาศให้ Bio-Circular-Green Economy (BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติ ในฐานะประธานของคณะกรรมการขับเคลื่อน BCG Model เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพในพื้นที่ของจังหวัดสตูล สตูลเป็นจังหวัดขนาดเล็กมีประชากรเพียงสองแสนกว่า ภายใต้พื้นที่สองพันสี่ร้อยกว่าตารางกิโลเมตร แต่หากมองดูทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นภูเขาหรือทะเล จะเห็นว่ายังมีอะไรที่สามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่และประเทศได้มหาศาลการยกขบวนของหน่วยงาน อว. ที่เรียกว่า 4 เสือประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ลงพื้นที่ในวันนี้เนื่องจากเรามีความเชื่อมั่นในเรื่องของการรวมพลังทำงานเป็นทีม อว. ซึ่งเป็นกระทรวงน้องใหม่แต่มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ซับซ้อนในการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทย์และศิลป์ การที่มุ่งดีดตัวเองออกจากกับดักรายได้ปานกลางเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น จะต้องไม่ทำงานเพียงลำพัง แต่ต้องมีพันธมิตรที่ดี โดยเฉพาะคนในพื้นที่ซึ่งมีความรู้และคุ้นเคยกับบริบทพื้นที่ดีกว่าคนนอก ดังนั้นการมาในวันนี้มีความคาดหวังว่าสี่เสือของ อว.จะนำพาชาวสตูลทะยานสู่การเป็นอีกจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่ทางภาคใต้

A5 2 A5 1


​     ด้าน นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดี วศ. ซึ่งได้ร่วมเวที Forum Talk: 4 เสือนำวิทย์พบศิลป์เปิดโลก BCG สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ‘สตูล’ กับหน่วยงานเครือข่าย เปิดเผยว่า การทำงานบูรณาการร่วมกันครั้งนี้ เป็นการสร้างจุดแข็งและผนึกกำลังก้าวสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดย วศ. เป็นหน่วยงานด้านห้องปฏิบัติการกลางของประเทศ จึงนำผลิตภัณฑ์มาทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน อีกทั้ง วศ. เป็นหน่วยงานแรกที่นำองค์ความรู้เรื่องการย้อมสีผ้าบาติกด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติในพื้นที่ จ.สตูล โดยใช้พืชประจำถิ่น ได้แก่ ใบจำปาดะ ใบหูกวาง ใบสาบเสือ และแหล่งดินในพื้นที่มาใช้เป็นวัตถุดิบให้สีธรรมชาติ โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสกัดสีจากวัตถุดิบพืชพรรณธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่และการหมักดินที่มีสูตรกรรมวิธีที่มีความเฉพาะเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกสีย้อมธรรมชาติมีสีสันสวยงาม แปลกตา มีการติดสีที่เข้มขึ้น สีติดคงทน สามารถนำไปสรรสร้างโดยการเพิ่มลวดลายการมัดย้อมได้หลากหลาย ยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ไม่เกิดสารเคมีตกค้างที่อาจสะสมและส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้ประกอบการ รวมทั้งรักษาสภาพแวดล้อมตามหลัก BCG Model ไม่ให้เสียหายจากสารเคมีที่เป็นอันตราย ที่สำคัญคือสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชุมชนลดการว่างงานในพื้นที่ เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ จ.สตูล ให้ยั่งยืนต่อไป

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข่าว : จิตลดา คณีกุล ภาพ : คุณวุฒิ ลี่แตง

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctorD