- ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ
- Hits: 16130
ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง คือ ฟ้าแลบ และ ฟ้าร้อง ส่วนฟ้าผ่านั้นเกิดขึ้นอยากกว่าฟ้าแลบ ฟ้าร้อง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ซึ่งกระแสไฟฟ้านี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบเหตุได้ วันนี้ Dr.DSS จะมาบอกให้ทราบว่า จะมาบอกว่า ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าให้ทราบครับ
.
ในก้อนเมฆจะมีการเสียดสีกันระหว่างโมเลกุลของน้ำและอากาศ ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าขึ้น โดยที่ก้อนเมฆจะทำหน้าที่เป็นตัวเก็บประจุไฟฟ้าเหล่านี้เอาไว้ เมื่อก้อนเมฆมีประจุไฟฟ้ามากพอ ก็จะถ่ายโอนประจุไฟฟ้าจากที่ที่มีศักย์ไฟฟ้าสูง ไปยังที่ที่มีศักย์ไฟฟ้าต่ำ ทำให้ประจุไฟฟ้าจำนวนมากเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วสูงผ่านอากาศ เกิดความร้อนและแสงสว่างตามเส้นทางที่ประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่ ถ้าเป็นการถ่ายโอนประจุระหว่างก้อนเมฆกับก้อนเมฆ จะเรียกว่า "ฟ้าแลบ" แต่ถ้าเป็นการถ่ายโอนประจุระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน จะเรียกปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า "ฟ้าผ่า"
การเกิด "ฟ้าผ่า" จะมีกระแสไฟฟ้าที่มีค่าความต่างศักย์สูงมาก อยู่ในระดับหลายล้านโวลต์เกิดขึ้น ซึ่งสามารถทำอันตรายต่อทุกสิ่งที่มันสัมผัสได้ รวมถึงตัวคนเราและสิ่งมีชีวิตอื่นๆด้วย ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทำอันตรายได้ถึงชีวิต ฟ้าผ่ามักเกิดขึ้นกับวัตถุที่อยู่เหนือระดับพื้นดิน ทั้งนี้เนื่องจากกระไฟฟ้าต้องการทางลัดระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน
.
เมื่อเกิดฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า การเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าทำให้อากาศในบริเวณที่สายฟ้าเคลื่อนที่ผ่านมีอุณหภูมิสูงมากจนขยายตัวอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดช็อคเวฟ (shock wave) ส่งเสียงดังออกมาเรียกว่า "ฟ้าร้อง" ฟ้าแลบและฟ้าร้องเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยเราจะได้ยินเสียงฟ้าร้องภายหลังหรือเกือบจะพร้อมกับฟ้าแลบและฟ้าผ่าเนื่องจากเสียงเดินทางช้ากว่าแสง โดยแสงมีอัตราเร็ว 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที ส่วนเสียงมีอัตราเร็วประมาณ 1/3 กิโลเมตรต่อวินาทีเท่านั้น ดังนั้นแสงจึงเดินทางมาถึงเราก่อนเสียง
.
ในบางครั้งเราไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังจากเกิดฟ้าแลบหรือฟ้าผ่านั้น เกิดจากสมบัติการหักเหของคลื่นเสียง โดยอากาศใกล้พื้นดินอุณหภูมิสูงกว่าอากาศเบื้องบน ทำให้การเคลื่อนที่ของเสียงเคลื่อนที่ได้ในอัตราที่ต่างกัน คือ เคลื่อนที่ในอากาศที่มีอุณหภูมิสูงได้เร็วกว่าในอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำ ดังนั้น การเคลื่อนที่ของเสียงจึงเบนขึ้นทีละน้อย ๆ จนข้ามหัวเราไป จึงทำให้ไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องครับ
.
วิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า
1. เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนองควรหลีกเลี่ยงการอยู่บนที่โล่งแจ้ง เช่น ทุ่งนา หรือสนามเด็กเล่นที่ปราศจากต้นไม้หากเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าการอยู่ในที่โล่งแจ้ง กระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าจะวิ่งตรงมาสู่ตัวเรา และไม่สวมใส่หรือมีสารที่เป็นสื่อไฟฟ้า เช่น สร้อยคอ แท่งโลหะ
.
2. สำหรับการปลูกสร้างอาคารสูงควรติดตั้งสายล่อฟ้าไว้บนยอดอาคารและเดินสายกราวน์ไปยังพื้นดิน เพื่อเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าจากอากาศให้รีบผ่านลงสู่พื้นดิน โดยไม่สร้างความเสียหายให้แก่ตัวอาคาร
.
3. ในกรณีที่อยู่ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ให้นั่งหมอบพร้อมย่อตัวให้ต่ำและชิดกับพื้นดินให้มากที่สุด ถ้านั่งด้วยขาเดียวจะปลอดภัยมากขึ้น ห้ามนอนราบกับพื้นดินเด็ดขาดเมื่อเกิดฟ้าผ่า
.
4. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา หรือโครงสร้างที่เป็นตัวนำไฟฟ้า
.
5. ห้ามยืนพิงต้นไม้ที่สูงเด่นกว่าต้นอื่น
.
6. ควรอยู่ในอาคารที่มีการติดตั้งระบบป้องกันฟ้าผ่า และไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ หรืออยู่ใกล้กับประตูหน้าต่างที่มีขอบเป็นโลหะ
.
ใช้มือถือขณะฝนตก ล่อฟ้าผ่าจริงหรือไม่
ความเชื่อที่ว่าเล่นมือถือขณะฝนตกทำให้ฟ้าผ่าจริงๆ แล้วมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะมือถือไม่ได้เป็นสื่อล่อฟ้า การใช้มือถือในขณะที่ฝนตกไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้โดนฟ้าผ่า เพราะจากการทดลองของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบว่าฟ้าไม่ผ่าลงโทรศัพท์มือถือ และทุกเครื่องยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ และโทรศัพท์เวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน
.
ที่สำคัญพลังงานของสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวนำได้ พร้อมกันนี้ยังมีรายงานว่าการใช้โทรศัพท์อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดฟ้าผ่า อาจจะมีผลเหนี่ยวนำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรและเกิดการระเบิดจนเป็นสาเหตุ ของการบาดเจ็บได้ เป็นผลข้างเคียงแต่ไม่ใช่สื่อล่อให้ฟ้าผ่า อย่างไรก็ดีการใช้โทรศัพท์มือถือในสภาวะที่เกิดฝนฟ้าคะนอง ก็นับเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะหากน้ำเข้าโทรศัพท์ก็มีโอกาสทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรได้เช่นเดียวกัน
.
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: National Geographic และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)