(ข่าวที่ 93/2567) “หมอรุ่งเรือง” อธิบดี วศ. แนะวิธีรับมือสารแอมโมเนีย ผู้ได้รับผลกระทบต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อาจอันตรายเสียชีวิต พบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์

F482 3 F482 1 F482 2

 

          จากกรณีเกิดการรั่วไหลของ “สารแอมโมเนีย” อย่างรุนแรง มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 160 คน เหตุเกิดภายในโรงงานน้ำแข็งราชา เลขที่ 54 ถนนชัยพรวิถี (ซอยหนองปรือ) หมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งในที่เกิดเหตุพบว่ามีกลุ่มควันสีขาวลอยพวยพุ่งอยู่ในชั้นอากาศ สูงจากพื้นดินประมาณ 3-4 เมตรในปริมาณมาก ซึ่งมีกลิ่นคล้ายสารแอมโมเนียใช้ในการผลิตน้ำแข็ง เมื่อสูดเข้าไปจะมีอาการแสบคอ หายใจไม่ออก และแสบตาอย่างมาก
          นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ข้อมูลว่า “แอมโมเนีย” ชื่อทางเคมี คือ แอมโมเนีย แอนไฮดรัส (Ammonia Anhydrous) สูตรเคมี คือ NH₃ มวลโมเลกุล 17.03 จุดเดือด -33.35 องศาเซลเซียส จุดหลอมเหลว -77.7 องศาเซลเซียส มีสถานะทั้งที่เป็นของเหลวและก๊าซ ตามที่เป็นข่าวนั้นคือ แอมโมเนียในสถานะก๊าซเป็นก๊าซที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง สามารถละลายน้ำได้ดี จัดเป็นสารเคมีอันตรายประเภท ก๊าซพิษและกัดกร่อน (Gases-Corrosive) เนื่องจากมีจุดเดือดต่ำ ราคาถูก ไม่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศเมื่อเทียบ กับสารทำความเย็นคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ชนิดอื่นๆ และมีประสิทธิภาพสูงในการทำความเย็น จึงนิยมนำมาเป็นสารนำความเย็นในระบบทำความเย็นโดยเฉพาะโรงงานทำน้ำแข็งและอุตสาหกรรมห้องเย็น เมื่อเกิดการรั่วไหลก๊าซแอมโมเนียจะรวมตัวกับความชื้นในอากาศทําให้เกิดเป็นหมอกควันสีขาวของแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์
           ก๊าซแอมโมเนียมีความเป็นพิษและอันตรายต่อมนุษย์ในลักษณะความเป็นพิษเฉียบพลัน (Acute toxic) ถ้าได้รับปริมาณน้อยๆ อยู่เป็นประจำจะมีอาการพิษเรื้อรัง ถ้าได้รับปริมาณสูง ทำให้เสียชีวิตได้ในทันที โดยมีอันตรายต่อร่างกาย ประกอบด้วย
          1. สัมผัสทางการหายใจ: การหายใจเข้าในปริมาณมากกว่า 25 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ทำให้ระคายเคืองจมูกและคอ ถ้าได้รับในปริมาณมากจะหายใจติดขัด เจ็บหน้าอก หลอดลมบีบเกร็ง มีเสมหะและปอดบวม มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาเจียน ความดันโลหิตเพิ่ม
          2. สัมผัสทางผิวหนัง: ถ้าได้รับปริมาณมากในระยะสั้น ๆ ทำให้เกิดอาการคันที่ผิวหนัง เป็นผื่นแดง บวม เป็นแผล ถ้าได้รับปริมาณมากๆ และมีความเข้มข้นสูงทำให้ผิวหนังไหม้แสบ บวม เป็นน้ำเหลืองจากความเย็น
          3. สัมผัสถูกตา: ทำให้เจ็บตา ตาบวม น้ำตาไหล คันที่ดวงตา ถ้าได้รับซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวทำให้เกิดอาการระคายเคืองเรื้อรังต่อตาอย่างถาวร
          4. การกินเข้าไป: ทำให้เกิดอาการแสบไหม้บริเวณปาก คอ หลอดอาหารและกระเพาะอาหาร
          5. ทำลาย ไต ตับ ปอด ในกรณีที่ได้รับสารแอมโมเนียจำนวนมาก
           ทั้งนี้ หากพบอาการผิดปกติจากก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลและมีอาการตาอักเสบ น้ำตาไหล หายใจหอบถี่ แสบคอ จมูก หรือผิวหนังอักเสบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพบแพทย์โดยทันที นอกจากนี้หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่วางไว้ในบ้านและไม่มีการป้องกันช่วงเกิดเหตุ เพราะอาจได้รับก๊าซแอมโมเนียเข้าสู่ร่างกายได้ ในด้านป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหมั่นสังเกตความผิดปกติ ถ้าได้กลิ่นก๊าซแอมโมเนียให้รีบอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังจุดที่ปลอดภัยไม่ได้รับกลิ่นก๊าซดังกล่าว ซึ่งถ้าไม่สามารถอพยพได้ให้อยู่ในบ้านรีบปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด พร้อมสวมใส่หน้ากากป้องกันสารเคมีตลอดเวลาเพื่อไม่ให้รับสัมผัสสูดดมก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor