(ข่าวที่10/2566) วศ. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำในการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนักในน้ำที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

 

                                A28 1 A28 4

                               A28 2 A28 3

 

          กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดย กลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ได้จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 โดยได้ดำเนินการจัดส่งตัวอย่างน้ำให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม วันที่ 16 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการภายในประเทศ จำนวน 205 ห้องปฏิบัติการ เพื่อดำเนินการทดสอบผลการวัดในรายการ Heavy metals (As, Cd, Cr, Cu, Fe, Mn, Ni, Pb, Se and Zn) in water และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ภายในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป
       โลหะหนัก (Heavy Metal) เป็นโลหะที่มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำ 5 เท่าขึ้นไป โดยมีคุณสมบัติสลายตัวช้า จึงสามารถพบโลหะหนักปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่มักพบตามแหล่งน้ำ ทำให้มนุษย์มีโอกาสได้รับโลหะหนักเข้าสู่ร่างกายผ่านทางสัตว์น้ำและพืชน้ำ โดยหลายหน่วยงานในประเทศไทยได้กำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำประเภทต่างๆไว้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานน้ำทิ้ง มาตรฐานคุณภาพผิวดิน มาตรฐานคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค ยกตัวอย่าง มาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดค่าสูงสุดไม่เกินค่ามาตรฐาน เช่น Cu 1.5 mg/L, Zn 15 mg/L, As 0.05 mg/L, Pb 0.1 mg/L และ Cd 0.1 mg/L เป็นต้น สำหรับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของโลหะหนัก ยกตัวอย่างเช่น ตะกั่ว (Lead, Pb) ในสิ่งแวดล้อมนั้นพบได้จาก 2 แหล่งใหญ่ (1) จากกระบวนการธรรมชาติ (2) จากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งตะกั่วสามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อก๋วยเตี๋ยวที่เชื่อมด้วยตะกั่ว กระทะ และภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้กระบวนการผลิตภาชนะและแบตเตอรี่ในระดับอุตสาหกรรมอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่ดิน แหล่งน้ำ กระจายไปสู่พื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ทำให้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้ ซึ่งความเป็นพิษของตะกั่วมีทั้งอาการเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน และซึมไม่รู้สึกตัว เป็นต้น ในผู้ใหญ่หากพบตะกั่วในเลือดมากกว่า 0.1 mg/L อาจถึงขั้นอันตรายจนเสียชีวิตได้ นอกจากนี้เด็กที่ได้สารตะกั่วจะมีระดับ IQ ต่ำกว่าเด็กทั่วไป

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor