(ข่าวที่137/2565)วศ.อว. ขับเคลื่อนสตูลโมเดลต่อเนื่อง ลงพื้นที่หารือผู้นำท้องถิ่น พร้อมเก็บตัวอย่างขยะพลาสติก และขยะมูลฝอยฯในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล

A5 3 A5 4

A5 1 A5 2

       วันที่ 26-28 พฤษภาคม 2565 ดร.สมจิตต์ ตั้งชัยวัฒนา ดร.โอบเอื้อ อิ่มวิทยา ทีมนักวิจัยฯและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินทางลงพื้นที่ จ.สตูล ปฏิบัติภารกิจการสำรวจการจัดการขยะ และเก็บตัวอย่างทางสิ่งแวดล้อม สนับสนุนข้อมูลโครงการสำรวจปริมาณไมโครพลาสติกในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล

     โดยวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ทีมนักวิจัย วศ. ได้เข้าหารือกับ นายณัฐพันธุ์ อังโชติพันธุ์ นายกองค์การบริหารสส่วนตำบลเกาะสาหร่าย และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอข้อมูลและวัตถุประสงค์การดำเนินโครงการสำรวจปริมาณไมโครพลาสติก ตลอดจนสำรวจรูปแบบการจัดการขยะในปัจจุบันของ อบต.เกาะสาหร่ายซึ่งพบว่ายังใช้ระบบฝังกลบเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการคัดแยกขยะอย่างชัดเจน ซึ่งผู้บริหาร อบต. ให้ความสำคัญที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากแนวโน้มในอนาคตปริมาณขยะบนเกาะสาหร่ายจะเพิ่มมากขึ้นและส่งผลให้พื้นที่ทิ้งขยะมีไม่เพียงพอจำเป็นต้องหาวิธีการอื่นๆ หวังให้มีหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เข้ามาช่วยพร้อมสร้างความตระหนักรู้กับประชาชนให้เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ วศ. ยินดีประสานงานกับหน่วยงานในสังกัด อว. เพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการจัดการขยะต่อไป


      จากนั้น วันที่ 27-28 ทีมนักวิจัย วศ. ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงเก็บและคัดแยกขยะบนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งดำเนินการโดยภาคเอกชนมีการจัดเก็บ คัดแยก บีบอัดขยะ ก่อนขนส่งข้ามฟากไปที่บ่อขยะ อ.ละงู จ.สตูล ในทุกๆ 15 วัน และขยะเปียกทางโรงงานฯ จะใช้ทำเป็นแก๊ส ปุ๋ยหมัก และเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงงาน ดังกล่าว
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัย วศ. ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมทางทะเลพร้อมเก็บตัวอย่างขยะไมโครพลาสติกโดยรอบบริเวณเกาะหลีเป๊ะนำไปวิเคราะห์ ทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนเกี่ยวกับการจัดการมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลต่อการประเมินอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ในด้านการแก้ไขปัญหาขยะโดยรอบอุทยานฯ บนเกาะสาหร่าย และเกาะหลีเป๊ะเป็นประเด็นค่อนข้างซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมสี่เสือ อว. และหน่วยงานอื่นๆ ของ อว. และที่เกี่ยวข้องต้องรวมพลังขับเคลื่อนนำองค์ความรู้พร้อมเทคโนโลยีไปบริหารจัดการให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้มีความสวยงามและยั่งยืนต่อไป

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข่าว : จิตลดา คณีกุล ภาพ : เอกพจน์ เกลี้ยงงาม

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctorD