1.รับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ

1.การใช้ control chart ในการเฝ้าระวังข้อมูลของควบคุมคุณภาพ ถ้ามีข้อมูลที่อยู่ในเกณฑ์ “out of control” จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร

ตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องมือ สารเคมี สภาวะที่ใช้ในการทดสอบว่าผิดปกติหรือไม่ แล้วทำการวิเคราะห์ตัวอย่างควบคุมในครั้งนั้นซ้ำเพื่อตรวจสอบความบกพร่องในการทำงานครั้งนั้น ถ้า

1. ค่าที่ได้ไม่อยู่ในเกณฑ์“out of control” ให้ใช้ค่าตัวอย่างควบคุมที่วิเคราะห์ใหม่ พล๊อตลงในแผนภูมิควบคุมซึ่งค่าตัวอย่างควบคุมที่ “out of control” ก็ต้องพล๊อตด้วยและบันทึกการกระทำต่างๆด้วยและทำการวิเคราะห์ตัวอย่างต่อไป

2. ค่าที่ได้ยังคง “out of control” ให้หยุดการวิเคราะห์ทดสอบ หาสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดและทำการแก้ไขข้อผิดพลาด และเริ่มสร้าง control chart ใหม่ ทั้งนี้ข้อมูล การกระทำทั้งหมดต้องบันทึกไว้ด้วย

2.วิธีการพิจารณาเลือกใช้วัสดุอ้างอิงที่เหมาะสม

1. สารที่ต้องการตรวจสอบ :สารประกอบหรือธาตุใดในตัวอย่างที่ต้องการวิเคราะห์

2. ช่วงของการวิเคราะห์ทดสอบ :ความเข้มข้นของวัสดุอ้างอิงควรอยู่ในช่วงใกล้เคียงกับความเข้มข้นของตัวอย่างที่วิเคราะห์

3. Matrices ใกล้เคียงกับตัวอย่าง

4. ความเป็นเนื้อเดียวกัน : มีข้อมูลหรือผ่านการตรวจสอบความเป็นเนื้อเดียวกันแล้วอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

5. เสถียรภาพ : มีข้อมูลหรือผ่านการตรวจสอบเสถียรภาพแล้วอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

6. ปริมาณ : เพียงพอ

7. ค่าความไม่แน่นอน : ต้องระบุค่าความไม่แน่นอนและมีการแสดงหรืออ้างถึงวิธีการคำนวณ

8. วันหมดอายุ (expired date)

3.Selectivity / Bias / Working range / Sample blank / Within-run precision หมายถึงอะไร

Selectivity หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์สารที่ต้องการวิเคราะห์ (analyte) ในตัวอย่างที่มีสารรบกวนและตรวจสอบว่าสารรบกวนดังกล่าวมีผลกระทบต่อผลการวิเคราะห์หรือไม่ กล่าวคือยังให้ผลการวิเคราะห์ทดสอบที่มีความแม่นอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดของวิธีนั้นๆ การศึกษา Selectivity ทำได้โดยการเติมสารหรือสิ่งที่คาดว่าจะรบกวนในปริมาณต่าง ๆ กันลงในตัวอย่าง และ Blank แล้วทำการวัดปริมาณสารที่ต้องการวิเคราะห์ (analyte) แล้วพิจารณาว่าสารรบกวนปริมาณเท่าใดที่มีผลต่อที่ต้องการวิเคราะห์ (analyte) เช่น การศึกษาการรบกวนของคลอไรด์ ทองแดง ต่อการวิเคราะห์ปริมาณปรอทในตัวอย่างน้ำโดยวิธี Cold vapour AAS เป็นต้น

Bias ความเบี่ยงเบน หรือความเอนเอียง หมายถึง ผลต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของค่าที่วัดได้กับค่าจริง ซึ่งเกิดเนื่องมาจาก Systematic error (type B error) ของวิธีการวิเคราะห์ (Method bias) และของห้องปฏิบัติ(Laboratory bias) ผลต่างระหว่างค่าเฉลี่ยที่ได้จากการเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการ (Interlaboratory comparison) กับค่าจริง แสดงให้เห็นถึงความเบี่ยงเบนที่เกิดจากวิธีการวิเคราะห์ทดสอบ ส่วนผลต่างระหว่างค่าเฉลี่ยที่ได้จากการทำซ้ำของห้องปฏิบัติการกับค่าเฉลี่ยที่ได้จากการเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นถึงความเบี่ยงเบนที่เกิดจากห้องปฏิบัติการ (Laboratory bias)

Working range หมายถึง ช่วงความเข้มข้นของสารที่วิเคราะห์ที่วิธีการนั้นๆ สามารถวิเคราะห์ได้โดยมีค่าความแม่น (ความถูกต้องและความเที่ยง) อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ส่วน Linear ranges หมายถึงช่วงความเข้มข้นของสารที่วิเคราะห์ที่วิธีการนั้น ๆ สามารถทำการวิเคราะห์ได้โดยมีความสัมพันธ์กับสัญญาณที่วัดได้เป็นเส้นตรง ซึ่งWorking range อาจกว้างหรือแคบกว่า Linear ranges ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของวิธีนั้นๆต่อตัวอย่างที่วิเคราะห์

Sample blank (analyte-free sample) หมายถึง ตัวอย่างที่ไม่มีสารที่ต้องการวิเคราะห์ อยู่เลยมีแต่matrices ซึ่งนำมาใช้ศึกษา method detection limit ,Limit of Quantitation(LOQ)

Within-run precision หมายถึง ความเที่ยง (ความใกล้เคียงของผลการวัดซ้ำในแต่ละค่า) ที่กระทำ

ภายในห้องปฏิบัติการเดียวกัน ชุดการทดสอบเดียวกัน ใช้วิธีการเดียวกัน ผู้ปฏิบัติงานคนเดียวกัน เครื่องมือเดียวกันในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งแสดงผลโดยค่า Standard deviation, S หรือ relative standard deviation, RSD หรือ variance, S2 (ความแปรปรวน)

4.การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี และการทวนสอบ แตกต่างกันอย่างไร?

• การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี เป็นการศึกษาอย่างเป็นระบบของห้องปฏิบัติการในการจัดทำคุณลักษณะของวิธีการ ว่าเป็นไปตามเกณฑ์กำหนด และ มีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งาน (fit for purpose) สามารถให้ผลการทดสอบที่น่าเชื่อถือในด้านความแม่น (accuracy) ซึ่งแสดงค่าความไม่แน่นอนของการวัด(uncertainty of measurement ) และความสอบกลับได้ของผลการวัดด้วย

• การทวนสอบ เป็นการยืนยันโดยการตรวจสอบและจัดทำหลักฐานเพื่อแสดงว่าเป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุ ดังนั้น การทวนสอบจึงกระทำเมื่อเราเลือกวิธีทดสอบที่ผ่านการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีมาแล้ว โดยที่ ห้องปฏิบัติการต้องตรวจสอบสมรรถนะของห้องปฏิบัติการในด้านต่างๆเช่น บุคลากรว่าความเชี่ยวชาญ และ ประสบการณ์ ในการวิเคราะห์ทดสอบตามวิธีการนั้น (Technical competence) เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ สภาวะแวดล้อมมีคุณลักษณะที่เหมาะกับการทดสอบนั้น ๆ ด้วย และต้องปฏิบัติเหมือนกับการทำงานปกติ แล้วได้ผลเป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุ ของวิธีนั้นๆ

• การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี ต้องกระทำเมื่อวิธีที่ใช้เป็น

o วิธีที่ไม่ใช่มาตรฐาน (Non-standard method)

o วิธีที่คิดหรือพัฒนาขึ้นเอง (Developed method)

o เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้นอกเหนือขอบเขตของวิธี

o เป็นวิธีมาตรฐานที่ขยายหรือปรับปรุงให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ (Modified method)

o ใช้ชุดตรวจสอบชนิดพกพา (Portable test instruments and test kits)

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบางประการควรมีการบันทึกความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ และทำการ Revalidate ตามความเหมาะสม เช่น

o ตัวอย่างที่มีสารรบกวนต่างกัน

o วิธีวิเคราะห์ทดสอบที่แตกต่างไป เวลาที่ใช้ในการอบแห้ง กลั่น การบ่ม อุณหภูมิ / เกณฑ์กำหนด

o วิธีที่มีการปรับปรุง/ดัดแปลงไปบางส่วน เช่น สารเคมีที่ใช้ อาหารเลี้ยงเชื้อ

o การลดขั้นตอนการวิเคราะห์ เช่น เวลา สารเคมี

o ไม่ทำการทดสอบซ้ำเพื่อลดค่าใช้จ่าย