(ข่าวที่ 59/2567) วศ.อว.เตือนภัยนำถุงดำรีไซเคิลมาใส่อาหาร

F343 10 F343 9

 

           นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามภาพที่ปรากฏในสื่อโซเชียลที่มีการแชร์เป็นวงกว้าง เป็นภาพถุงดำที่นำมาใส่อาหาร และมีการตั้งคำถามว่า “สามารถเอามาใส่ของที่เราทานได้ด้วยหรือ ถามทางร้านเขาบอกว่าเขาใส่ถุงแบบนี้กันหมดแล้วพบว่า เหม็นทั้งกลิ่นเหม็นทั้งสี นั้น
           ศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์ วศ.อว. ขอเตือนว่า ถุงดำส่วนมากทำจากพลาสติกรีไซเคิล มีการใส่สีดำหรือสีอื่นให้เข้มเพื่อปกปิดตำหนิ และสิ่งสกปรก ซึ่งไม่ได้เป็นชนิดสำหรับสัมผัสอาหาร ประชาชนจึงไม่ควรนำมาใส่อาหารซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อมาใส่อาหารร้อนหรืออาหารที่มีไขมัน เช่น กล้วยแขก ปาท่องโก๋ หากนำถุงพลาสติกมาใช้ ผิดวัตถุประสงค์ก็จะทำให้อาหารที่บรรจุนั้นไม่ปลอดภัย และอาจมีการปนเปื้อนของสารที่เป็นอันตราย จากพลาสติกสู่อาหารได้ เช่น โลหะหนัก สารปนเปื้อนที่หลงเหลือจากกระบวนการรีไซเคิล หรือสีที่มาผสมพลาสติก โดยสารเหล่านี้จะค่อยๆ สะสมในร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ อีกทั้งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและก่อให้เกิดโรคติดต่อรุนแรงได้
           ปัจจุบันข้อกฏหมายกำหนดให้ชนิดของพลาสติกรีไซเคิลที่สามารถนำกลับมาใช้เป็นวัสดุสัมผัสอาหารได้ ต้องเป็นพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) เท่านั้น แต่ถุงพลาสติกส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติกชนิด PE หรือ PP
           ทั้งนี้ บางประเทศมีการผลิตถุงใส่อาหารที่มีสีดำ แต่เป็นเกรดสำหรับอาหาร (food grade) ได้มาตรฐาน สำหรับภาพที่ปรากฏในสื่อน่าเชื่อว่าถุงดำที่นำมาใช้น่าจะเป็นถุงที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ใส่ขยะ จึงขอเตือนมายังผู้ใช้ว่าห้ามใช้ถุงดำดังกล่าวโดยเด็ดขาด เพราะก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor