(ข่าวที่ 54/2567) หมอรุ่งเรือง อธิบดีวศ.อว. ไขข้อสงสัย “กระดาษทิชชูก่อมะเร็งจริงหรือไม่” แนะหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษทิชชูที่มีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิลเพราะอาจได้รับอันตรายจากสารเรืองแสง

F338 2 F338 3

F338 4 F338 1

 

         เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวหญิงสาวรายหนึ่งในต่างประเทศ ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยชี้สาเหตุมาจากการเลือกใช้กระดาษชำระหรือกระดาษทิชชูที่มีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิลมาเช็ดทำความสะอาดร่างกายและอวัยวะสืบพันธุ์เป็นประจำ สร้างความตกใจแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีการใช้กระดาษทิชชูเป็นประจำ จากข่าวดังกล่าว ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้กระดาษทิชชูเช็ดทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์เป็นประจำทำให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ อย่างไรก็ตามหากต้องการใช้ทิชชูเช็ดทำความสะอาดร่างกายควรเลือกใช้ที่ผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและใช้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ตามการใช้งาน

           กระดาษทิชชูแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า กระดาษเช็ดปาก กระดาษเช็ดมือ และกระดาษเช็ดอเนกประสงค์ ซึ่งมีทั้งที่ผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ (เยื่อกระดาษจากต้นไม้) และจากเยื่อรีไซเคิล โดยกระดาษทิชชูที่มีเยื่อรีไซเคิลเป็นส่วนผสม จะทำมาจากจากกระดาษที่ใช้งานแล้ว นำมาถูกให้ความร้อน ผ่านขั้นตอนการกำจัดหมึก (Deinking) และขึ้นรูปใหม่ ด้วยความร้อนที่สูงมาก ทิชชูจากเยื่อรีไซเคิลจึงมีสีขาวขุ่น รวมถึงความขรุขระ ไม่ค่อยเรียบ มีคุณภาพต่ำกว่าทิชชูประเภทอื่น ราคาถูก บางชนิดมีการใส่สีสันลงไป เช่น สีชมพู สีน้ำตาล เพื่อปกปิดให้ผู้ใช้งานมองข้าม โดยทั่วไปแล้วมีสารเรืองแสงตกค้าง เพราะในขั้นตอนการกำจัดหมึกจะทำให้ความขาวสว่างของเยื่อกระดาษลดลงจึงใส่สารฟอกนวลหรือสารเพิ่มความความเข้าไป ทำให้มีสารเรืองแสงตกค้าง

          การเลือกใช้กระดาษทิชชูที่มีเยื่อรีไซเคิลเป็นส่วนผสมซึ่งอาจมีสารเรืองแสงตกค้างอยู่ เมื่อใช้เช็ดทำความสะอาดผิวสารเรืองแสงซึ่งเป็นสารที่ละลายในน้ำได้ จะหลงเหลือสารตกค้างอยู่บนผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองในบางคน และจากการศึกษาพบว่าเมื่อสารเรืองแสงได้รับรังสี อัลตราไวโอเลต (UV) จากแสงแดดอาจเหนี่ยวนำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่ผิวหนัง ทำให้เกิดมะเร็งที่ผิวหนังในระยะยาวได้

           อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ แนะนำประชาชนควรเลือกซื้อทิชชูที่ไม่มีเยื่อรีไซเคิลเป็นส่วนผสม โดยดูที่ฉลากที่ระบุว่าผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์และไม่มีสารเรืองแสง แต่อย่างไรก็ตามบางยี่ห้อไม่ได้ระบุไว้ว่าทำมาจากเยื่อชนิดใด มีวิธีทดสอบแบบง่ายๆ ด้วยตัวเอง คือ นำกระดาษทิชชูจุ่มน้ำ แล้วนำมาพักทิ้งไว้สักครู่ สีบนเนื้อกระดาษทิชชูจะเปลี่ยนไป หากกระดาษทิชชูใดที่มีการเปลี่ยนแปลงสีของเนื้อกระดาษจากขาวเปลี่ยนเป็นดำคล้ำแสดงว่ากระดาษทิชชูนั่นมีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิล ส่วนกระดาษทิชชูที่ทำจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์จะไม่มีการเปลี่ยนสี หรือหากที่บ้านมีเครื่องหรือไฟฉายที่ใช้ตรวจธนบัตรปลอม ซึ่งเครื่องเหล่านี้มีแหล่งกำหนดแสงเป็น UV ก็สามารถนำมาส่องที่กระดาษทิชชูเพื่อตรวจหาสารเรืองแสงได้ ถ้ากระดาษทิชชูมีการเติมสารเรืองลงไปก็จะเรืองแสงออกมาแสดงว่ากระดาษทิชชูนี้มีเยื่อรีไซเคิลเป็นส่วนผสม

          หากต้องใช้ทิชชูทำความสะอาดร่างกายและอวัยวะสืบพันธุ์นอกจากควรเลือกใช้กระดาษทิชชูที่ผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์แล้วต้องเป็นทิชชูที่สะอาด แห้ง ไม่เปียกชื้น เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย รา ไวรัส หรือเชื้ออื่นๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในกระดาษทิชชูที่เปียก สัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายก่อให้โรคร้ายตามมาได้

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor