(ข่าวที่56/2566) วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาเคมี รายการ SiO2, Al2O3, Fe2O3, CaO, MgO and SO3 in Portland cement

E36 2  E36 3

 

E36 4  E36 1

   

           วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กรมวิทยาศาตร์บริการ โดย กลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ได้จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (Proficiency Testing: PT) โดยดำเนินการจัดส่งตัวอย่างปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 14 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบ ในรายการ SiO2, Al2O3, Fe2O3, CaO, MgO และ SO3 โดยมีกำหนดส่งผลการทดสอบกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ภายในวันที่ 3 มีนาคม 2566 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างความมั่นใจในคุณภาพทางเคมีของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ให้แก่ห้องปฏิบัติการทดสอบในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
          ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) คือ ปูนซีเมนต์ประเภทหนึ่งที่นิยมใช้แพร่หลายทั่วโลกในงานก่อสร้าง นับเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตคอนกรีต การผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์มีส่วนผสมหลัก คือ หินปูน หินดินดาน ดินลูกรัง และทราย รวมถึงการเพิ่มสารอื่นๆ เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพของปูนซีเมนต์ เช่น ยิปซัม สารปอซโซลาน สารลดน้ำ เป็นต้น การผลิตเริ่มต้นด้วยการบดวัตถุดิบให้เป็นผงละเอียด และนำไปเผาที่อุณหภูมิสูงจนได้เม็ดปูนซีเมนต์ซึ่งจะถูกนำไปบดเป็นปูนซีเมนต์ผงที่มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีเทา ทั้งนี้มาตรฐานปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ของไทย คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ หรือ มอก.15 เล่ม 1 ข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพ ซึ่งได้แบ่งปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้ ประเภท 1: ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา ประเภท 2: ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ดัดแปลง ประเภท 3: ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทให้กำลังอัดสูงเร็ว ประเภท 4: ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทเกิดความร้อนต่ำ และ ประเภท 5: ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภททนซัลเฟตสูง วิธีการตรวจวิเคราะห์หาชนิด และปริมาณของธาตุในปูนซีเมนต์ เช่น Chemical Analysis จะใช้วิธีการทางเคมีเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณธาตุต่างๆ ในตัวอย่างปูนซีเมนต์โดยจะมีการวิเคราะห์ที่สำคัญ 8 พารามิเตอร์ ได้แก่ silicon dioxide (SiO2), aluminium oxide (Al2O3), ferric oxide (Fe2O3), calcium oxide (CaO), magnesium oxide (MgO), sulfur trioxide (SO3), Loss on ignition (LOI) และ Insoluble residue (IR) โดยในการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณธาตุชนิดต่างๆ ของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มีประโยชน์ในอุตสาหกรรมการผลิตมากมาย เช่น อุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ อุตสาหกรรมด้านเคมี และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ฯลฯ

ประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ

- ทำให้ห้องปฏิบัติการมั่นใจในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำ ถูกต้อง
- เพื่อยืนยันสมรรถนะและความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบ เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าของห้องปฏิบัติการ และยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctor