(ข่าวที่271/2565) วศ.อว. พัฒนายานยนต์ขับขี่อัตโนมัติเพื่อยกระดับเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 310895118_468154272006898_5190205554571895118_n.jpg   310839905_468149562007369_4550939842669906564_n.jpg

310961264_468154162006909_6757786610285761813_n.jpg   311152115_468154188673573_701456454734514512_n.jpg

 

        กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) มีความมุ่งมั่นพัฒนาระบบช่วยขับขี่อัจฉริยะ หรือ Advanced Driver-Assistance System: ADAS ไปจนถึงระบบยานยนต์ เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle: CAV) พร้อมทั้งศึกษาและพัฒนาวิธีทดสอบสมรรถนะและ ระบบความปลอดภัย ของ ยานยนต์สมัยใหม่ ที่จะมีบทบาทสำคัญสำหรับอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการขนส่ง และโลจิสติกส์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย
         ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดี วศ. กล่าวว่า วศ. เป็นหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ที่ท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับ Mega Trend ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยียานยนต์ขับขี่อัตโนมัติมีข้อจำกัดด้านความปลอดภัยที่ยัง ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมปัจจุบัน โดย วศ. มุ่งมั่นดำเนินโครงการสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติหรือ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground ขึ้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อหวังยกระดับคุณภาพของยานยนต์แห่งอนาคตที่พัฒนาและผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งการดำเนินงานมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด วศ. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือทดสอบในโครงการพัฒนาวิธีทดสอบยานยนต์อัตโนมัติ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ในการพัฒนาระบบการควบคุมความปลอดภัยในการขับขี่อัจฉริยะ หรือที่เรียกว่า Advanced Driver- Assistance System: ADAS ไปจนถึงระบบ Driverless Car และได้ทดลองจริงแล้ว ณ EECi จังหวัดระยอง
          ด้าน ดร.ปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการคือ การศึกษาและพัฒนาวิธีทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยของระบบที่สำคัญในยานยนต์อนาคต (Future Mobility) โดยคณะผู้วิจัยของ วศ. ได้พัฒนารถยนต์โดยสารขับขี่อัตโนมัติขึ้น ด้วยการออกแบบและติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ Drive by Wire สำหรับควบคุม Steering-brake-throttling ที่ได้มาตรฐาน ISO 26262, ASIL-D บนรถยนต์โดยสารไฟฟ้า และสร้างแผนที่ดิจิทัลแบบความละเอียดสูง (HD Map) เพื่อใช้นำทางการเคลื่อนที่ของรถยนต์ โดยอ้างอิงตำแหน่งรถ (Localization) ด้วยการรวมสัญญาณจากเซนเซอร์จาก 3D LiDAR แบบ 32 Channels, IMU/INS Sensor แบบความถี่สูงผนวกกับ GNSS ที่มีความแม่นยำสูงจาก การรับค่าแก้ไขตำแหน่งจาก สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กรมที่ดิน หรือกรมแผนที่ทหาร โดยสัญญาณ ค่าแก้ไขความแม่นยำ GNSS จะส่งผ่าน เครือข่าย 5G ในส่วนของการนำทางแบบอัตโนมัตินั้นจะใช้ Autonomous Navigation Algorithm ที่เป็น Open source มาสร้าง #AI ให้ช่วยจดจำ (Recognize) ลักษณะของ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ คน รวมทั้งทำนายการเคลื่อนที่ของวัตถุ โดย วศ. ได้ทดสอบการใช้งานจริงบนถนนในพื้นที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งปัจจุบันสามารถทดสอบรถ ขับขี่แบบอัตโนมัติที่ความเร็วสูงสุด45 กม./ชม. และในภายปี 2566 วศ. จะทำการทดสอบในสนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV proving ground) ของ วศ. ที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เพื่อการจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์แห่งอนาคตของประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ อัตโนมัติของประเทศให้ได้มาตรฐาน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ระดับโลก

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctorD