(ข่าวที่159/2565)วศ.อว. จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบถุงมือทางการแพทย์ เสริมคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล

C3 1 C3 3

C3 4 C3 2

       กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ดำเนินกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) ประจำปี 2565 สาขาฟิสิกส์: รายการ Dimensions (Thickness, Width and Length), Force at break, Tensile strength at break, Elongation at break and Watertightness of Medical glove ร่วมกับกลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อทดสอบความสามารถของห้องปฏิบัติการและประกันคุณภาพการผลการทดสอบคุณสมบัติของถุงมือยางทางการแพทย์ของประเทศทั้งในภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานวิจัยต่างๆ โดยในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 โดยจัดส่งตัวอย่างถุงมือยางทางการแพทย์สำหรับทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพ โดยมีห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 14 ห้องปฏิบัติการ เริ่มดำเนินการทดสอบ และส่งผลกลับมายังศูนย์บริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ
    ถุงมือยางที่มีคุณภาพที่ดี ควรมีความยืดหยุ่นสูง เหนียว ไม่ฉีกขาดง่ายและไม่รูรั่วซึม ถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ (Medical glove) มี 2 ประเภทคือถุงมือตรวจโรค (Examination glove) และ ถุงมือผ่าตัด (Surgical glove) ถุงมือตรวจโรค ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ มีลักษณะบาง สั้นแค่ข้อมือ ไม่มีซ้ายขวา สวมใส่ง่าย ราคาถูกกว่าถุงมือผ่าตัด ส่วนถุงมือผ่าตัดเป็นถุงมือปลอดเชื้อ มีลักษณะบางแข็งแรง ยาวเลยข้อมือและผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยรังสีแกรมม่า แบ่งข้างซ้ายขวาชัดเจน
ในกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการที่ วศ. จัดขึ้นในครั้งนี้ได้สุ่มตัวอย่างถุงมือยางทางการแพทย์ชนิดถุงมือตรวจโรค (Examination glove) ที่มีการขายทั่วไปในท้องตลาด ผลิตวันเดียวกัน
         ล็อตการผลิตเดียวกัน เพื่อใช้ในการควบคุมคุณภาพผลการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของถุงมือยางทางการแพทย์ กำหนดให้ทดสอบคุณสมบัติ 3 หัวข้อใหญ่ๆ คือ
1)ทดสอบขนาดของถุงมือยางทางการแพทย์ (Dimensions) โดยวัดความหนา ความกว้าง และความยาวของถุงมือทางการแพทย์ตามมาตฐาน ISO 11193
2)ทดสอบคุณสมบัติด้านแรงดึง (Tensile properties) โดยตัดถุงมือยางทางการแพทย์เป็นรูปทรง dumb-bell (type 2) ตามเอกสารมาตรฐานอ้างอิง ISO 37 เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาผลิตเป็นถุงมือยางทางการแพทย์และทำการทดสอบ ดังนี้
- ค่าความต้านแรงดึง ณ จุดขาด (force at break)
- ค่าความทนต่อแรงดึง ณ จุดขาด (tensile strength at break) เป็นการวัดแรงดึงสูงสุดที่ใช้ดึงยืดวัสดุจนขาดหารด้วยพื้นที่หน้าตัดของวัสดุนั้น
- ค่าการยืดตัว ณ จุดขาด (elongation at break) เป็นการวัดระยะสูงสุดที่วัสดุสามารถยืดยาวได้จนถึงจุดที่ชิ้นทดสอบขาดจากกันเทียบกับระยะเริ่มต้น (gauge length)
3)ทดสอบรอยรั่วของถุงมือยางทางแพทย์ เพื่อหารอยรั่วของถุงมือที่เกิดกำหนดโดยผู้จัดกิจกรรมฯ ให้เป็นไปตามกำหนดมาตรฐาน มอก. ซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลายประการที่ทำให้คุณภาพของถุงมือไม่ได้มาตรฐาน อันเนื่องมาจาก อายุของถุงมือที่เก็บไว้นาน การเก็บรักษาไม่เหมาะสม หรือจากการผลิตไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
การทดสอบคุณสมบัติความเหนียว ความยืดหยุ่น การทนต่อแรงดึงสูงสุดของถุงมือยาง และการมีรอยรั่วของถุงมือยาง จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อความเหมาะสมของการใช้งาน และความปลอดภัยกับผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรค
       ทั้งนี้ วศ. ส่งเสริมให้การเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาความสามารถของห้องปฏิบัติการ เช่น ปัญหาจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ การใช้เครื่องมือ หรือความสามารถของบุคลากร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำ ถูกต้อง และสามารถนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพและบริหารความเสี่ยงของห้องปฏิบัติการ และขอการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เสริมความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบถุงมือยางทางการแพทย์ เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์/ทีมงานโฆษก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เลขที่ 75/7 ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวีกรุงเทพฯ 10400 โทร 0 2201 7095-8 โทรสาร 0 2201 7470 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.facebook.com/DSSTHAISCIENCE , www.facebook.com/ScienceDoctorD