(ข่าวที่89/2559 วศ. ร่วมงานมหกรรม Thailand Tech Show 2016 โชว์ผลงานวิจัยกว่า 200 ผลงาน ดึงนักลงทุน ต่อยอด “งานวิจัยใช้ได้จริง”)

 

วศ. ร่วมงานมหกรรม Thailand Tech Show 2016

โชว์ผลงานวิจัยกว่า 200 ผลงาน ดึงนักลงทุน ต่อยอด “งานวิจัยใช้ได้จริง”

 

  

          

          เมื่อวันที่ 8-10 กันยายน 2559 กระทรวงวิทย์ฯ-สวทช. จัดงานมหกรรม Thailand Tech Show 2016 ภายใต้แนวคิด “S&T for Thailand 4.0” เพื่อเป็นเวทีกลางนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยเทคโนโลยี และนวัตกรรมของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเชื่อมโยงผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ให้ผู้ประกอบการและนักลงทุน ได้พบปะ เพื่อจับคู่ธุรกิจและร่วมลงทุนต่อยอด “ผลงานวิจัยที่ใช้ได้จริง” นำไปผลิตและขายในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ที่ร่วมลงทุนต่อยอดงานวิจัยในงานนี้ ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดถึง 300 % ตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย โดย  ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ณ เพลนารี ฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กรมวิทยาศาสตร์บริการ นำโดย ดร.ลดา พันธุ์สุขุมธนา นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ เข้าร่วมพิธีเปิดมหกรรม Thailand Tech Show 2016 พร้อมทั้งนำผลงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้แก่ ยางขวางถนนชะลอความเร็วรถยนต์ และสารเคลือบผิวมะม่วงที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีก่อโรคเพื่อยืดอายุผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว เป็นทางเลือกให้ผู้สนใจ สามารถซื้อเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตจริง

          ทั้งนี้  วันที่ 9 กันยายน 2559 ดร.อรสา อ่อนจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ เป็นวิทยากรนำเสนอผลงานในกลุ่มวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร เรื่องยางขวางถนนชะลอความเร็วรถยนต์ ที่ทำมาจากยางพาราและยางรีเคลม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี  ทนทาน รับน้ำหนักได้ดี มีความยืดหยุ่นและความปลอดภัยในการใช้งานสูง  มีความปลอดภัยในการใช้งานสูงกว่าบล็อกซีเมนต์ โดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้ในสถานที่ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น สนามเด็กเล่น สนามกีฬา บ้านพักคนชรา คนพิการ เนื่องจากยางขวางถนนฯ จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้ อายุการใช้งาน หากใช้งานในที่ร่ม ยางขวางถนนฯ จะมีอายุการใช้งานนาน 7 -10 ปี แต่หากใช้งานกลางแจ้งอายุการใช้งานจะอยู่ที่ 5 – 7 ปี ยางขวางถนนฯ แม้จะมีราคาสูงกว่าวัสดุหลากหลายที่ใช้อยู่ แต่ก็มีข้อดีกว่า อาทิ มีขนาดที่เป็นมาตรฐานเท่ากันหมด มีความสวยงาม มีสีที่มองเห็นได้ง่ายชัดเจน มีความนุ่มนวลและไม่มีเสียงดังขณะรถยนต์วิ่งข้าม ทั้งยังช่วยลดการสึกหรอของยานพาหนะ ทำให้ประหยัดค่าซ่อมบำรุงด้วย

          วันที่ 10 กันยายน 2559 นางสาวโสรญา รอดประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ เป็นวิทยากรนำเสอนผลงานในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เรื่องสารเคลือบผิวมะม่วงที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคเพื่อยืดอายุผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว ไม่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่มีผลต่อสุขภาพแม้รับประทานทั้งเปลือก เนื่องจากสารเคลือบผิวที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้ส่วนประกอบจากธรรมชาติทั้งหมด นอกจากเคลือบเพื่อความสวยงาม ยืดอายุ ชะลอการสุก ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์แล้ว ค่าความหวานและค่าความเป็นกรดด่าง ก็ไม่แตกต่างไปจากมะม่วงธรรมดา ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าแวกซ์ที่ใช้ในการเคลือบผิวตามวิธีเดิมหลายเท่า ซึ่งอาจช่วยเกษตรกรในการลดภาระต้นทุนจากการซื้อสารเคมีที่ใช้ในการเคลือบผิวผลไม้ได้อีกทางหนึ่ง และสามารถยับยั้งเชื้อราคอลเลคโตตริกัม (Colletotrichum gloeosporioides) ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคจำพวกที่พบบนมะม่วงได้ดีกว่าสารเคมีต้านเชื้อราคาร์เบนดาซิม ที่ปริมาณสูงสุดตามที่มาตรฐานกำหนดที่ 1,000 ppm เมื่อใช้สารเคลือบผิวผลไม้ร่วมกับการเก็บรักษาที่ตู้ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น (10 องศาเซลเซียส, 80%RH) จะสามารถยืดอายุมะม่วงให้คงความสดได้นานกว่า 21 วัน

 

 

 

ข่าว / ภาพ: ทิพาพร ภูมิปกรณ์ 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมวิทยาศาสตร์บริการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เลขที่ 75/7ถนนพระรามที่ 6ราชเทวี กรุงเทพฯ10400 โทร 02 201 7000  โทรสาร 0 2201 7470  เว็บไซต์ www.dss.go.th

Facebook  : www. Facebook.com /DSSTHAISCIENCE